xs
xsm
sm
md
lg

น้องหม่องฟีเวอร์ ยุวทูต ‘ไทย’ ไร้สัญชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นี่แหละเมืองไทย ถ้าเครื่องบินกระดาษของ น้องหม่อง หรือ เด็กชาย หม่อง ทองดี ไม่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย น้องหม่องก็คงเป็นแค่เด็กไร้สัญชาตินั่งพับกระดาษอยู่ที่โรงเรียนบ้านห้วยทราย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อไป โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอนาคตจะได้เรียนต่อหรือไม่

ถ้าความทรงจำร่วมของสังคมยังไม่สั้นเกินไป คงจำกันได้ว่าน้องหม่องต้องดิ้นรนตัวเป็นเกลียวเพื่อเดินทางไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ที่เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2552 จนเป็นข่าวคราวใหญ่โตอันแสดงให้เห็นความใจจืดของผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศ

โชคดีที่กระทรวงการต่างประเทศและตัวนายกรัฐมนตรีไม่ได้หน้ามืดบ้าจี้ไปกับกระทรวงมหาดไทย น้องหม่องจึงได้บินไปสร้างชื่อให้แก่ประเทศไทยทั้งที่อายุแค่ 12 ปี ด้วยการคว้าตำแหน่งที่ 3 จากประเภทบุคคลอายุไม่เกิน 12 ปี และชนะเลิศประเภททีม 3 คน (ผู้ที่ไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในครั้งนี้ยังมี นางสาวฝอยฝน ศรีสวัสดิ์ ได้ที่ 1 บุคคลหญิงทั่วไป นายประเสริฐ เฉลิมการนนท์ ได้ที่ 2 และ นายสุรินทร์ อินทรโชติ ได้ที่ 3 ประเภทบุคคลชาย โดยนายประเสริฐ และนายสุรินทร์ ก็คือทีมเดียวกันกับน้องหม่องที่คว้ารางวัลชนะเลิศประเภททีม 3 คน แต่เดาได้เลยว่าคนเหล่านี้คงจะไม่ถูกพูดถึงมากนัก แม้ว่าจะคว้าที่ 1 มาก็เถอะ)

ตลกมั้ย? ก่อนเดินทางน้องหม่องคือคนไร้สัญชาติ แต่ตอนกลับ กลายเป็น ‘น้องหม่องนำทีมไทยคว้าแชมป์’ ตามที่สื่อหลายฉบับช่วยกันประโคม โดยไม่เห็นมหาดไทยหรือภาครัฐหน้าไหนออกมาทักท้วงสักแอะ ...น้องหม่องกลายเป็นคนไทยไปโดยทันที

ยังไม่พอ มหกรรมลดแลกแจกแถมยังมีมาต่อเนื่อง เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช และคณะเดินทางไปรับถึงสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมยกตำแหน่งเยาวชนยุวทูตด้านวิทยาศาสตร์ และจะให้ทุนการศึกษาน้องหม่องถึงปริญญาเอก ส่วนสวนสัตว์เชียงใหม่ก็ตกรางวัลด้วยการอนุญาตน้องหม่องเป็นกรณีพิเศษในการเข้าเยี่ยมชมแพนด้าหลินปิง ด้านพ่อแม่ของน้องหม่องคือ นาย ยุ้น และ นาง มอย ทองดี ก็มีสายการบินแห่งหนึ่งเป็นธุระปะปังให้ขึ้นเครื่องมารับลูกที่สุวรรณภูมิฟรีๆ

เชื่อได้ว่าเรื่องการขอสัญชาติของน้องหม่องไม่น่าจะยากเย็นอีกแล้ว เพราะสุ้มเสียงของมหาดไทยก็ชักจะอ่อนลง

ส่วนเด็กๆ ไร้สัญชาติอีกมากมายในประเทศไทยก็ยังคงไม่รู้ชะตากรรมต่อไป ปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติจึงยังไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ เลย

“สิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนก็คือ คนไร้รัฐก็คือคนที่ไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎร อย่างพ่อแม่น้องหม่องก็ต่างกัน เขาหนีภัยความตายมาจากประเทศพม่า แล้วสื่อมวลชนก็พากันไปเรียกเขาว่า พม่า ซึ่งมันตลก เพราะเขาเป็นไทยใหญ่ แล้วรู้ไหมว่าไทยใหญ่กับพม่าเขารบกัน แล้วมันจะเป็นไปได้ยังไงที่พม่าจะยอมรับคนไทยใหญ่เป็นคนพม่า
“แล้วคำว่าไร้สัญชาติก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นต่างด้าวเสมอไปนะ อย่าง กรณีของจอบิหรือนารวยที่เคยเกิดขึ้น พวกนี้ก็เป็นคนไทยที่อยู่ในทะเบียนราษฎร แต่อาจถูกบันทึกผิด


“ส่วนน้องหม่องก็เป็นคนหนีภัยความตายที่มาเกิดที่ประเทศไทย เป็นบุตรของพ่อแม่ แล้วประเทศไทยเองก็พยายามทำดีต่ออนุสัญญาสิทธิเด็ก ก็คือพยายามจะบันทึกน้องในทะเบียนของเด็กไร้สัญชาติในโรงเรียน แล้วด้วยความเป็นชาตินิยมของคนในกระทรวงมหาดไทยบางคน ก็พยายามจะย้ำว่า น้องหม่องเป็นแรงงานต่างด้าวทั้งๆ ที่น้องเขาอายุ 12 ขวบเอง อยู่ในโรงเรียน ไม่ได้อยู่ในโรงงาน”

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้ติดตามประเด็นนี้มาอย่างยาวนานอธิบาย ต่ออีกว่าปัญหาใหญ่ของคนไร้สัญชาติคือการขาดองค์ความรู้ของทุกภาคส่วน

“อันที่จริง กฎหมายบอกว่าน้องหม่องไปได้ ไม่ใช่ไปไม่ได้ แต่ที่มีข่าวว่าน้องไปไม่ได้ เพราะข้อมูลที่สื่อไปยังอธิบดี สื่อไปที่ มท.1 มันสื่อผิด และในที่สุดมันออกมาตามที่ฝ่ายกฎหมายบอก เพราะฉะนั้นอุปสรรคอันแรกเลยก็คือความไม่รู้มันปกคลุมเรื่องนี้”

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าสังคมไทยควรจะต้องร่วมกันสร้างองค์ความรู้ในประเด็นคนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติอย่างจริงจังเสียที

“การแก้ไขทุกวันนี้ต้องมีความประณีตให้มากขึ้น ดูอะไรให้ชัดก่อน แล้วค่อยมาตัดสิน อย่างเอกสารเดินทางของน้องหม่อง ออกมาบอกกันเป็นแถวว่าทำไม่ได้ แต่ทำได้ไหม ทำได้ แล้วก็ไม่ได้มีตั้งแต่น้องหม่องนะ มันมีมาตั้งนานแล้ว มันเป็นปกติประเพณี เป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐต้องออกเอกสารรับรองตัวบุคคล ถ้าอยู่ในประเทศก็ต้องเป็นบัตรต่างๆ พอไปต่างประเทศ เราจะเรียกว่า Passport หรือ Travel Document ก็เป็นหนังสือใช้เดินทางเหมือนกัน”

ด้าน รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต แสดงความคิดเห็นกรณีนี้ว่า ก็ไม่เข้าใจกฎหมายเมืองไทยเหมือนกัน เพราะว่าหลานชายตนที่เกิดที่เมืองนอก เขาเกิดมาเขาก็ได้สัญชาติอเมริกันทันที เพียงเพราะเหตุผลที่เขาเกิดที่ประเทศนั้น

“เท่าที่ผมรู้ เพื่อนๆ และคนรู้จักที่เมืองนอก ไม่ว่าตัวเขาจะอยู่แบบโรบินฮูดหรืออะไรก็ตาม เมื่อเขาเกิดในประเทศนั้นแล้ว เขาก็จะได้สัญชาติอัตโนมัติมันต่างกันกับบ้านเรา ถ้ากฎหมายบ้านเราถึงจะเกิดในเมืองไทยแต่พ่อแม่เป็นต่างด้าวก็จะไม่ได้สัญชาติ”

ในเรื่องนี้โดยส่วนตัว รศ.ดร.เสรี ยังไม่กล้าเข้ายุ่งด้วย เพราะคิดว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงในประเทศ เราอาจจะกลัวปัญหาความมั่นคงระหว่างเขาหรืออย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน เขายังบอกอีกว่า ไม่ควรจะไปพูดถึงเรื่องว่าการไปสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย เนื่องจากจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของสองมาตรฐาน ควรพูดถึงเรื่องหลักการมากกว่า

“โดยในหลักการของผม คิดว่าคนที่เกิดในเมืองไทย ควรได้สัญชาติไทย ขอให้เป็นแบบนั้นก็แล้วกัน ไม่ควรมีกฎเกณฑ์อะไรกับเขา ส่วนถ้าพ่อแม่หากมีความต้องการสัญชาติเหมือนลูกจะต้องรอให้ลูกอายุ 21 ปี ก่อน ถ้าอายุยังไม่ครบก็ไม่สามารถทำได้ และประเด็นของน้องหม่องมันไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาไปทำชื่อเสียงให้ประเทศไทย ไม่จำเป็น ไม่เกี่ยว แต่ให้มุ่งไปที่ว่าเขาเกิดในเมืองไทย เขาควรจะได้รับสัญชาติไทย”

ถ้าเปรียบเทียบกรณีของน้องหม่องกับบรรดาชาวต่างประเทศที่เข้ามาเดินเล่นบนแผ่นดินไทย ฮุบที่ดินชายหาด ฮุบที่ดินปลูกข้าว และฮุบอะไรอีกหลายอย่าง ด้วยวิธีง่ายๆ แค่ทุ่มเงินลงมาหรือแต่งงานกับคนไทย เราจะสรุปอย่างหยาบกร้านได้หรือไม่ว่า การจะเป็นคนของรัฐใด การจะเป็นคนสัญชาติใด มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นให้ผลประโยชน์อะไรหรือไม่กับรัฐนั้น

แต่ถ้าเป็นคนไม่มีอำนาจ ไม่มีทุนอย่างน้องหม่อง เรื่องง่ายๆ ก็กลายเป็นเรื่องยากเย็นไปทันที

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ เน้นย้ำอีกครั้งถึงการสร้างองค์ความรู้เพื่อจัดการปัญหานี้

“วันนี้เรื่องของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ พวกกระทรวงศึกษาธิการก็น่ารักมาก เขาเข้าใจเด็กที่หนีภัยความตายมาเป็นแรงงานต่างด้าว หรือเด็กไม่ได้หนีภัยความตาย แต่หนีภัยความยากจน ถ้าเราสอนหนังสืออย่างดีหรือพม่ากลับมาสู่ความสงบ คนเหล่านี้เวลาโตเป็นผู้ใหญ่มันก็จะรักประเทศไทย ไม่ลุกขึ้นมาทำร้ายประเทศไทย

“การแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ จึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องวิ่งไล่ตามให้สัญชาติไทย ถ้าเราคุยกับคนไทยใหญ่หรือคนพม่าเองจริงๆ เขาก็เหมือนคนไทยไปทำงานซาอุฯ ปัญหาคือเราไปคิดเอาเองหรือเปล่า โอเค มันอาจมีบางคนที่อยู่นานแล้ว อยากได้สัญชาติ ภาษาวิชาการเขาเรียกว่าลืมความเกาะเกี่ยวกับประเทศต้นทาง ถ้าคุณเป็นคนต่างจังหวัดมาอยู่กรุงเทพฯ นานๆ คุณก็กลับบ้านไม่ได้ เพราะมันไม่คุ้นเคย เพราะฉะนั้นความรู้ของคน มันก็จะทำให้ปัญหามันดีขึ้น”

กรณีน้องหม่องจึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศที่มาพร้อมๆ กับการสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอทางความรู้และวัฒนธรรมแบบเห่อและแห่ตามๆ กัน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่มีใครสนใจ
***********

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : อดิศร ฉาบสูงเนิน









กำลังโหลดความคิดเห็น