xs
xsm
sm
md
lg

โพล 51.46% ชี้! รัฐยังดูแลศิลปินแห่งชาติไม่ดีพอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โพลชี้รัฐยังดูแลศิลปินแห่งชาติไม่ดีพอ ไม่รู้ว่ามีสวัสดิการเงินเดือน และรัฐไม่ประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวาง ขณะที่ “เนาวรัตน์” แนะวธ.ดึงนักวิชาการถอดองค์ความรู้ศิลปินสอนเยาวชน วอนดึงชิ้นงานสู่สากล หวังช่วยชูภาพลักษณ์ด้านดีให้ชาติไทย

 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ
ดร.ปิยากร หวังมหาพร ผอ.สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม หรือศรีปทุมโพล ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,000 คน เรื่องทัศนคติของประชาชนที่มีต่อศิลปินแห่งชาติ เนื่องในโอกาสที่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ โดยได้สรุปผลสำรวจดังนี้ เมื่อถามถึงรางวัลศิลปินแห่งชาติ ประชาชน ร้อยละ 18.57 เห็นว่าเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ ที่น่าภาคภูมิใจ ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 42.90 ไม่ทราบเลยว่าศิลปินแห่งชาติจะได้รับสวัสดิการ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินเดือน และมีเพียงร้อยละ 21.53 ที่ระบุว่าทราบ นอกจากนี้ คือ ประชาชน ร้อยละ 51.46 เห็นว่ารัฐบาลให้การดูแลด้านสวัสดิการแก่ศิลปินแห่งชาติ ไม่ดีพอ เพราะไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักศิลปินแห่งชาติอย่างกว้างขวาง และไม่ได้ดูแลศิลปินแห่งชาติอย่างจริงจัง ขณะที่ร้อยละ 45.01 เห็นว่าเหมาะสม


ดร.ปิยากร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ประชาชนได้เสนอแนวทางที่ให้ภาครัฐส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักศิลปินแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นว่าควรส่งเสริมให้นำผลงานของศิลปินแห่งชาติมาจัดนิทรรศการตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถาบันการศึกษา เป็นต้น รวมทั้งควรจัดตั้งศูนย์ด้านศิลปวัฒนธรรมสำหรับผู้สนใจศึกษาและสนใจดำรงศิลปวัฒนธรรมเข้าศึกษากับศิลปินแห่งชาติ และควรส่งเสริมให้ศิลปินแห่งชาติถ่ายทอดองค์ความรู้ตามสถาบันการศึกษา เช่น วิทยากร อาจารย์พิเศษ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการเพื่อให้ศิลปินแห่งชาติเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น

ขณะที่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวถึงแนวคิดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่ต้องการให้ศิลปินแห่งชาติทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมแก่เยาวชนว่า ตนมองว่าการจะนำความรู้ที่มีจากตัวบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนนั้น ควรผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบ ต้องมีนักวิชาการผู้ทำหน้าที่เฉพาะในการถอดความรู้ที่มีจากตัวศิลปิน ออกมาเป็นองค์ความรู้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและยั่งยืนต่อไป

“ศิลปินแห่งชาติมีความรู้ แต่ไม่ได้เป็นครู เปรียบเทียบศิลปินเหมือนก้อนอิฐที่สมบูรณ์อยู่แล้ว แต่ศักยภาพของเขาคือก้อนอิฐ ดังนั้นต้องมีนักวิชาการมาสร้างองค์ความรู้จากผู้ทรงความรู้ การนำเอาศิลปินแห่งชาติมานั่งสอนเด็กรายบุคคล บางคนอาจจะสอนได้ แต่ว่ามันไม่ได้ตรงตามหน้าที่ หน้าที่การศึกษาจะต้องมาสร้างองค์ความรู้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปอย่างยั่งยืน เหมือนกับการนำเอาอิฐไปปูพื้นหรือก่อเจดีย์” นายเนาวรัตน์ กล่าว

นายเนาวรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องการให้ วธ.มีการยกระดับและเผยแพร่ภูมิปัญญาศิลปินแห่งชาติของไทยไปสู่สากลให้มากขึ้น โดยการแปลชิ้นงานด้านวรรณศิลป์ และชิ้นงานด้านต่างๆ ที่แสดงถึงความคิดดีๆ จากมุมมองของศิลปินในประเทศไทย ให้เป็นภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ ให้มาก ทั้งนี้นอกจากการเผยแพร่ที่กว้างขวางแล้ว ยังส่งผลต่อการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศชาติ เพราะในปัจจุบันข่าวที่ถูกส่งผ่านสื่อมวลชนออกไปนั้น โดยส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรม ยาเสพติด โสเภณี การเมืองที่วุ่นวาย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย
กำลังโหลดความคิดเห็น