xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนศิลปินแห่งชาติถังแตก เงินติดลบ เหตุปี 52 ศิลปินแก่-เจ็บ-ตายอื้อ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาย สมชาย เสียงหลาย เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.)
กองทุนศิลปินแห่งชาติถังแตก เงินติดลบไม่พอจ่าย เหตุปี 52 มีศิลปินแก่-เจ็บ-ตาย อื้อ สวช.เผยเงินส่วนกลางเหลือ 3 ล้านบาท วอนท้องถิ่น-สถานศึกษาช่วยเหลือดึงศักยภาพจ้างเป็นครูภูมิปัญญา

วันนี้ (5 ม.ค.) นายสมชาย เสียงหลาย เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เปิดเผยว่า เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จะประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติปี 2552 ซึ่งในปีนี้ได้ทำการคัดเลือกใน 3 สาขา ได้แก่ 1.สาขาทัศนศิลป์ 2.สาขาวรรณศิลป์ 3.สาขาศิลปะการแสดง มีผู้ผ่านการคัดเลือกมาทั้งหมด 9 คน โดยตนจะนำรายชื่อพร้อมผลงานเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานพิจารณาตัดสินและประกาศอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 7 ม.ค.นี้ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

นายสมชายกล่าวอีกว่า สำหรับการช่วยเหลือศิลปินแห่งชาติ รัฐบาลได้มอบเงินอุดหนุนผ่านกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมว่าด้วยการจัดสวัสดิการศิลปินและผู้มีผลงานทางวัฒนธรรม (กกส.) ดูแลเรื่องค่าตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 40,000 ต่อปี เงินช่วยเหลือเมื่อประสบภัยไม่เกินคนละ 50,000 ต่อปี ค่าของเยี่ยมไม่เกินคนละ 2,000 บาท ค่าเบี้ยประกันคนละไม่เกิน 300,000 บาท เมื่อเสียชีวิตจะได้รับการช่วยเหลือคนละ 15,000 บาท ค่าเครื่องเคารพศพ ไม่เกินคนละ 2,000 บาท และค่าจัดพิมพ์หนังสือไม่เกินคนละ 120,000 บาท เงิน กกส.นี้ได้ช่วยเหลือศิลปินแห่งชาติ 112 คน รวมถึงผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมและผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรมด้วย

“แต่ในปี 2552 เงินในส่วนสวัสดิการไม่เพียงพอ ติดลบหลายล้านบาท โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลของศิลปินแห่งชาติไม่พอจ่าย เพราะบางท่านป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลายาวนานต้องใช้ค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ต้องนำเงินส่วนกลางของกองทุนมาใช้แทน ทำให้ขณะนี้เงินกองทุนเหลืออยู่แค่ 3 ล้านบาทเท่านั้น แม้ในปี 2553 จะได้รับเงินอุดหนุนมา 39 ล้านบาท
ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเพียงพอหรือไม่ เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่ามีศิลปินแห่งชาติป่วย หรือเสียชีวิตมากน้อยเพียงใด จึงอยากให้แต่ละจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ที่มีศิลปินแห่งชาติอาศัยอยู่ให้การช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง เช่น รณรงค์ให้เยาวชนให้คุณค่าทรัพยากรบุคคลในท้องถิ่น ให้เงินเดือน หรือจ้างเป็นอาจารย์สอนพิเศษ ครูภูมิปัญญา จะเป็นการหยั่งยืนกว่ารอแต่ความช่วยเหลือจากส่วนกลาง” เลขาฯ กวช.กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น