xs
xsm
sm
md
lg

“เนาวรัตน์” จวกรัฐทิ้งศิลปินแห่งชาติ อัดยับหนุนวรรณกรรมแค่เปลือก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
“เนาวรัตน์” ซัดรัฐบาลทอดทิ้งศิลปินแห่งชาติ ยกย่องแต่ทิ้งขว้าง-ลอยแพ เผยบางคนหนี้สินท่วม ต้องดิ้นรนกันเอง อัดยับยก “การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ” เหลว ส่งเสริมงานวรรณกรรมแต่เปลือก ซื้อแต่หนังสือขังไว้ในตู้ วอนสนใจแก้ปัญหาจริงจัง

วันนี้(6 ม.ค.) นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ออกมาเปิดเผยตัวเลขงบประมาณกองทุนศิลปินแห่งชาติปี 2552 ไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นผลมาจากมีศิลปินแห่งชาติเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายราย ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง และเงินส่วนกลางเหลือเพียง 3 ล้านบาท และขอให้สถานศึกษาจ้างเป็นครูภูมิปัญญาว่า ปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลและคนไทยนั้นเรียกร้องแต่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ปัญหาการป่วยไข้ทางจิตวิญญาณของสังคมไทยกลับไม่ได้รับการรักษา ศิลปินแห่งชาติเป็นตัวอย่างที่ดีมีความรู้ในสาขาที่เฉพาะด้าน กลับไม่มีใครดูแลช่วยเหลืออย่างจริงจัง ยกย่อง แต่ทิ้งขว้าง เชิดชูศิลปะ แต่ไม่เคยดูแลศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ ปล่อยให้กระเสือกกระสนดิ้นรนเอง

“รัฐบาลดูแลจริง แต่ไม่ทั่วถึง ได้แต่ยกย่อง ตื่นเฉพาะอะไรที่เป็นปรากฏโฉงฉ่าง นักกีฬายกน้ำหนักได้เหรียญทอง ชาวบ้านแห่แหนไปทั่วเมือง ทางจังหวัดมอบบ้านมอบรถให้ แต่ศิลปินแห่งชาติบางคนไม่มีใครดูแล เวลาได้เจอกับเหล่าศิลปินแห่งชาติด้วยกันก็ได้แต่บ่น บางคนแก่เฒ่าชรา ทำงานไม่ได้ แต่ความรู้ความสามารถเป็นเลิศ ไม่มีการบันทึก ถ่ายทอด เท่าที่ควร เช่นที่ประสบด้วยตัวเองงานด้านวรรณกรรม วรรณศิลป์ รัฐบาลประกาศการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ จนถึงบัดนี้ไม่มีรูปธรรมอะไร ได้แต่ซื้อหนังสือขังไว้ในตู้ห้องสมุด ไม่ได้มีกิจกรรมทำให้คนเข้าถึงหนังสืออย่างแท้จริง ส่วนทางจังหวัดไม่ให้ความสนใจผู้อาวุโส มองไม่เห็นความสำคัญตัวศิลปิน แต่ยกย่องงานศิลปะ ชอบดอกไม้พลาสติก ละทิ้งดอกไม้จริง แล้วสังคมจะเข้มแข็งอย่างไร”นายเนาวรัตน์ กล่าว

ศิลปินแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า ส่วนภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ แต่ยังผิดทิศทาง ส่วนใหญ่มักแต่จัดการประกวด แข่งขั้น ตั้งเงินรางวัลสูง ทำให้ศิลปินเอาแต่ประกวด พอไม่ได้รางวัลก็ไม่พอใจ ตนก็ไม่รู้จะเรียกร้องอย่างไรให้สังคมมาสนใจศิลปินแห่งชาติ ได้แต่ขอว่าให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเชิดชูศิลปินให้จริงจัง เชิดชู ดูแล เผยแพร่ พิทักษ์รักษาปกป้องด้วย อย่าใช้วิธีการรณรงค์กันทางอุดมการณ์ยกย่องเท่านั้น โดยเฉพาะศิลปินแห่งชาติเกี่ยวกับศิลปะพื้นบ้านถูกทอดทิ้งกันมาก

ทั้งนี้ ในปี 2553 สวช. ได้รับงบประมาณสำหรับกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมว่าด้วยการจัดสวัสดิการศิลปินและผู้มีผลงานทางด้านวัฒนธรรม จำนวน 39 ล้านบาท สำหรับดูแลและช่วยเหลือศิลปินแห่งชาติ 112 คน ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม 105 คน และผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม/ที่ปรึกษาวธ. 3 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น