xs
xsm
sm
md
lg

เจ๋ง! ใช้ไฮเทคเฝ้าระวังโรคระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชุมวิชาการ ข้อมูลสุขภาพเข้มข้น วันที่สองคึกคัก ชี้ระบบเฝ้าระวังติดตามข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงคนไทยน่าห่วง ถูกโรคหลอดเลือดหัวใจ ความดัน เบาหวาน คุกคาม เผยระบบเฝ้าระวังโรคระบาดไทย เจ๋งใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงระบบ เตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมออนไลน์


ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ วันนี้ (18 ก.พ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเกี่ยวข้องรวม 30 องค์กร จัดการประชุมวิชาการ ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 หัวข้อ “ข้อมูลสุขภาพเข้มข้น สุขภาพชุมชนเข้มแข็ง” ผศ.ดร.ศุภวรรณ มโนสุนทร หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคติดต่อและการบาดเจ็บ สำนักงานโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการนำเสนอรายงาน เรื่อง “การเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ” ว่า การมีข้อมูลประชากรที่ป่วยด้วยโรคที่มีอัตราป่วยสูงถือเป็นเรื่องจำเป็นในการติดตามและวางแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยมีการเก็บข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน เอดส์ และการบาดเจ็บบนท้องถนน เพื่อนำมาประเมินสถานการณ์โรค และพิจารณาร่วมกับอัตราการเกิดโรคเพื่อทำให้ทราบความเสี่ยงประชากรและหาทางแก้ปัญหา

ผศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง 3 ครั้ง ในปี 2547,2548 และ 2550 ในประชากรอายุ 15-47 ปี พบว่า แนวโน้มพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคทางหลอดเลือดของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคอ้วน เบาหวาน ความดันหลอดเลือด สอดคล้องกับอัตราการป่วยต่อแสนประชากรจากโรคหลอดเลือดในสมอง ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2547 อยู่ที่ 169.9 ต่อแสนประชากร ในปี 2551 อยู่ที่ 216.6 ต่อแสนประชากร ซึ่งการมีข้อมูลเหล่านี้จะทำให้วิธีป้องกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเสี่ยง ที่สามารถทำได้โดยการให้ความรู้ คำแนะนำจากสถานพยาบาล เพื่อให้เกิดการดูแลตนเองได้

นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสวนา เรื่อง “ระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อตอบสนองภาวะเร่งด่วนทางสาธารณสุข” ว่า ปัจจุบันมีภัยคุกคามสุขภาพในรูปแบบต่างๆ ทั้ง สารเคมี ภัยพิบัติ โรคติดต่อ โรคระบาด ฯลฯ มีผลจากภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ต่างๆ การปรับข้อมูลการเฝ้าระวังจึงจำเป็นอย่างมาก ซึ่งระบบการในอนาคตจำเป็นต้องมีความรวดเร็วและเหมาะสมกับพื้นที่ต่างๆ

“การพัฒนาข้อมูลในส่วนการเฝ้าระวังโรคระบาด จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะวิธีสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต การส่งข้อความสั้น การใช้โทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันสำนักระบาดวิทยา ได้ทดลองใช้เพื่อรายงานและติดตามสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้ทราบสถานการณ์ได้รวดเร็วขึ้น แต่ยังจำเป็นต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและการสร้างข้อมูลในพื้นที่ต่างๆถือเป็นเรื่องสำคัญ”นพ.ภาสกร กล่าว

นพ.ภาสกร กล่าวต่อว่า การสร้างระบบเฝ้าระวังด้วยการสร้างข้อมูลร่วมกัน จำเป็นต้องทำแบบกระจายไปสู่หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ทำให้เกิดความเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วม นอกจากการเฝ้าระวังในระดับประเทศแล้ว ยังต้องสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบเฝ้าระวังไปยังประเทศใกล้เคียงหรือประเทศอื่นๆ ด้วย ปัจจุบันการสื่อสารเป็นแบบสังคมออนไลน์ หรือ Social networking การสร้างข้อมูลเพื่อใช้ร่วมกันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น