xs
xsm
sm
md
lg

ระดมนักวิชาการประชุมระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติครั้งแรกของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวรส.ผนึก สสส. จัดประชุมวิชาการระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติครั้งแรกของไทย ระดมนักวิชาการ หมอ และบุคลากรสาธารณสุข พัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพพื้นฐานคนไทย เชื่อปฏิวัติระบบการวางแผนสุขภาพในระดับพื้นที่ ชี้ปัญหาคุณภาพข้อมูล เกิดจากคนเก็บข้อมูลไม่ได้ใช้ คนใช้ข้อมูลไม่ได้เก็บ

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า แผนงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ (Thai Health Information System Network: THINK) ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ขึ้น ระหว่างวันที่ 17-19 ก.พ.นี้ ที่โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ ภายใต้หัวข้อการประชุม “ข้อมูลสุขภาพเข้มข้น เพื่อสุขภาพชุมชนเข้มแข็ง” การประชุมครั้งนี้ มุ่งหวังใหผู้บริหารและบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับเห็นความสำคัญการใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บุคลากรสาธารณสุขระดับพื้นที่รวมทั้งภาคประชาสังคม สามารถพัฒนาและใช้ระบบข้อมูลเพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งสร้างเครือข่ายคนทำงานด้านข้อมูล เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อันจะนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมด้านระบบข้อมูลข่าวสารในอนาคต

“ปัจจุบันพบว่า ส่วนกลางเป็นผู้กำหนดนโยบายในการเก็บข้อมูลต่างๆ ตามความต้องการของส่วนกลาง แต่ผู้ปฏิบัติในระดับพื้นที่ซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูลกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล ทำให้คุณภาพและความสมบูรณ์ของข้อมูลมีต่ำ เพราะผู้ปฏิบัติไม่เห็นประโยชน์ในการเก็บข้อมูล จึงเกิดปัญหาว่ามีข้อมูลจำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เท่าที่ควร ขณะที่ปัจจุบันมีความต้องการใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจค่อนข้างมาก เนื่องจากการใช้เพียงประสบการณ์หรือการคาดเดาอาจทำให้การวางแผนแก้ปัญหาเกิดความผิดพลาดได้” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

นางเบญจมาภรณ์ จันทรพัฒน์ ผอ.สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพและบริการสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การประชุมวิชาการระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติ ถือเป็นครั้งแรกในการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลสถิติด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อมูลสุขภาพพื้นฐานที่ควรมีระบบจัดเก็บฐานข้อมูลที่มีมาตรฐาน เช่น ข้อมูลสถิติชีพ หรือทะเบียนราษฎรที่ระบุการเกิด ตาย ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะปัจจุบันการรายงานต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดที่เสียชีวิตในช่วงสัปดาห์แรกที่ครอบครัวไม่ให้ความสำคัญเพราะกลัวยุ่งยากทางระเบียบราชการ แต่ตัวเลขดังกล่าวมีความสำคัญมาก และอาจทำให้การวางแผนแก้ปัญหาผิดพลาดได้

ด้าน นพ.บุญชัย กิจสนาโยธิน นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบข้อมูลข่าวสาร สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มาตรฐานการรายงานข้อมูลสถิติชีพ มี 2 ด้านคือ การนับจำนวน และคุณภาพ ปัจจุบันไทยไม่มีปัญหาเรื่องการนับจำนวน แต่ด้านคุณภาพถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน ที่กำหนดการรายงานการตายที่ไม่ทราบสาเหตุต้องไม่เกิน 20% แต่ไทยอยู่ที่ 40% เนื่องจากอัตราการตายที่บ้านหรือนอกสถานพยาบาลอยู่ที่ 65% ซึ่งมีการทำโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาคุณภาพข้อมูลสาเหตุการตายที่ จ.อุบลราชธานี เป็นเวลา 2 ปี พบว่าข้อมูลการตายไม่ทราบสาเหตุลดลงจาก 50% เหลือเพียง 20% ซึ่งจะมีการประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 30 จังหวัด วันที่ 16 ก.พ.นี้ เพื่อเข้าสู่การพัฒนาระบบร่วมกัน

“คุณภาพของข้อมูลสาเหตุการตายซึ่งมีเป็นจำนวนมากในสถิติชีพ โดยที่ไม่ได้มีการระบุโรคที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลไปสู่การวางแผนแก้ปัญหา หรือ ป้องกันโรคเหล่านั้น ผิดพลาดไป การปรับเปลี่ยนแก้ไขจะอาศัยคู่มือขององค์การอนามัยโลก(WHO) เรียกว่าการชันสูตรโดยการซักประวัติ ซึ่งทำโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานีอนามัย ซึ่งจะมีการอบรมโดยการสนับสนุนของ สนย. เชื่อว่าจะทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพมากขึ้น”นพ.บุญชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น