xs
xsm
sm
md
lg

พบตะกั่วสีทาผนังศูนย์ฯเด็กเล็กเกินค่ามาตรฐาน-กุมารแพทย์ย้ำ! ส่งผลต่อสติสมาธิสั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยพบสารตะกั่วในสีทาผนังของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กทม.ตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน กุมารแพทย์ย้ำ สารตะกั่วอันตรายส่งผลสติปัญหาเด็ก สมาธิสั้น ฉุนเฉียว ก้าวร้าว ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เตรียมร่างแนวทางปฏิบัติศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ปลอดภัย

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย รศ.พญ.นิตยา คชภักดี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก พญ.จันทิมา ใจพันธ์ แพทย์ประจำบ้าน และรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมแถลงข่า “ผลการศึกษาความเสี่ยงต่อการได้รับสารตะกั่วของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สังกัดของกรุงเทพมหานคร และแนวทางแก้ไข”

พญ.จันทิมา กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาและตรวจสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน สังกัดกรุงเทพมหานคร 17 ศูนย์ จากทั้งหมด 293 ศูนย์ โดยตรวจศูนย์ละ 13 จุด เช่น สีทาบ้าน สีในของเล่น ภาชนะใส่อาหาร น้ำจากน้ำประปา ฯลฯ พบว่า สิ่งส่งตรวจจาก 17 ศูนย์ มีจำนวนทั้งหมด187 ตัวอย่าง พบมีค่าตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน 11 ตัวอย่าง หรือ 5.9% โดยมาจากศูนย์เด็ก 10 ศูนย์ ซึ่งพบว่า สีทาบ้านมีความผิดปกติมากที่สุด ที่เหลือพบในดิน และโต๊ะเรียน

พญ.จันทิมา กล่าวต่อว่า สารตะกั่วที่พบในสีทาภายในอาคารพบ 9 ใน 17 ศูนย์ เท่ากับร้อยละ 52.9 ส่วนระดับตะกั่วในสารละลายที่พบในสีทาบ้านมีค่าตั้งแต่ 44-4,212 ppm โดยมีค่ามาตรฐานปกติอยู่ที่น้อยกว่า 90 ppm อีกทั้งการศึกษาพบว่าสีน้ำมันมีสารตะกั่วปนเปื้อนมากที่สุด โดยเฉพาะสีดำ สีเหลือง และสีเขียว จากผลการศึกษาดังกล่าวแสดงว่า ศูนย์พัฒนาเด็กในกทม. ที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนและเป็นพิษสูงประมาณร้อยละ 50 โดยเด็กที่ต้องระวังและอาจได้รับผลกระทบดังกล่าวสูงราว 15,000 คน ทั้งนี้ สารตะกั่วจะมีพิษก็ต่อเมื่อได้รับมากกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรโดยเด็กอายุตั้งแต่ 2-6 ปีในกทม.พบว่า มีระดับสารตะกั่วในเลือดเกินเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 9.6

ด้านน.ส.วลัยพร มุขสุวรรณ เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า มูลนิธิฯได้เข้าร่วมโครงการระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสีตกแต่งและสีทาบ้านใน 10 ประเทศ อาทิ อินเดีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ อินเดีย และไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 - กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา โดยแต่ละประเทศได้ส่งตัวอย่างสีไปทดสอบหาสารตะกั่วในห้องปฏิบัติการของอินเดีย สำหรับไทยส่งตัวอย่างจำนวน 27 ตัวอย่าง แบ่งเป็นสีน้ำมัน 17 ตัวอย่าง และสีพลาสติก 10 ตัวอย่าง ซึ่งพบว่า มีสีน้ำมันที่มีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 90 ppm ถึง 8 ตัวอย่าง ส่วนสีพลาสติกไม่พบ

รศ.พญ.นิตยา คชภักดี กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก กล่าวว่า เด็กมีความเสี่ยงต่อการได้รับพิษจากสารตะกั่วมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากการความสามารถในการดูดซึมสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายของเด็กมีมากกว่าผู้ใหญ่ 5 เท่า โดยร่างกายของเด็กดูดซึมสารตะกั่วได้ถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ที่มีการดูดซึมเพียง 10-15% ซึ่งปัจจัยสำคัญคือเด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงในการเอาของเข้าปาก รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆ เช่น คลาน เล่นตามพื้นดิน ที่อาจปนเปื้อนด้วยสารตะกั่ว

รศ.พญ.นิตยา กล่าวต่อว่า สารตะกั่วก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กในทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่สุดของการพัฒนาของสมอง หากได้รับในปริมาณมากจะส่งผลโดยตรงต่อระดับสติปัญญา สมองและระบบประสาทอย่างถาวร แม้จะให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ก็ไม่ไม่สามารถแก้ไขได้ ขณะเดียวกันแม้จะได้รับสารตะกั่วเพียงเล็กน้อย 5-10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร แต่หากมีการสะสมในระยะยาว ซึ่งจากการติดตามเด็ก 1 แสนคน ในช่วงเวลา 21 ปี พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับระดับสติปัญญาอย่างชัดเจน ทำให้พัฒนาการช้า พูดช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ความจำไม่ดี สมาธิสั้น อารมณ์ฉุนเฉียวง่ายนำไปสู่การก้าวร้าวโดยไม่รู้ตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้จากการศึกษายังพบว่า หากพบสารตะกั่วในเลือดเพิ่มขึ้นทุก 10ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร จะทำให้ระดับสติปัญญาหรือ ไอคิว ลดลง 4.6 จุดด้วย

รศ.พญ.นิตยา กล่าวด้วยว่า มีการศึกษาเพิ่มเติม ระดับเฉลี่ยของสารตะกั่วในเลือดในหลายเมืองทั่วโลกเปรียบเทียบกับการเกิดอาชญากรรม พบว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างมีระดับนัยสำคัญ แม้ว่าตะกั่วไม่ได้ทำให้เกิดอาชญากรรมโดยตรงแต่ต้องยอมรับว่ามีผลผ่านทางสมองของเด็ก นอกจากนี้ยังทำให้เป็นโรคโลหิตจางไตอักเสบในระยะเฉียบพลันโดยทำลายท่อไตส่วนต้น ส่วนผลในระยาวเรื้อรังต่อไตคือไตอักเสบ จนถึงไตวายได้ รวมถึงมีผลต่อทารกในครรภ์ ทำให้เกิดการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด เด็กที่เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ เป็นต้น

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราชวิชาลัยกุมารแพทย์อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน โดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ยึดค่ามาตรฐานสารตะกั่วในเลือดเด็กไทยตามหลักสากลคือไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเด็กที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับสารตะกั่วแต่ไม่แสดงอาการควรได้รับการตรวจคัดกรองหาระดับตะกั่วในเลือดเมื่อมารับตรวจสุขภาพเมื่ออายุครบ 1 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น