xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยพบเด็กตายในครรภ์ หลังแม่รับวัคซีน 2009-รอพิสูจน์สาเหตุ รู้ผลอีก 1 สัปดาห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยพบเด็กตายในครรภ์ 1 ราย ที่ จ.สตูล หลังแม่รับวัคซีนหวัด 2009 รอผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย รู้ผลอีก 1 สัปดาห์ พร้อมสั่งชะลอการให้วัคซีนแล้ว ส่วนอีกรายชัดเจนแม่หกล้มเลือดออกในสมอง ไม่เกี่ยวกับวัคซีน อาการยังน่าห่วงทั้งแม่และลูก ขณะที่หญิงท้องพัทลุงต้องส่งตัวด่วนไป มอ.เหตุปอดอักเสบหลังรับวัคซีน 2-3 วัน “รองอธิบดีกรมควบคุมโรค” เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบวันที่ 29 ม.ค. แพทย์ ย้ำหญิงตั้งครรภ์ยังจำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน

วันที่ 28 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัด สธ. และนพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุม ร่วมแถลงข่าวกรณีหญิงตั้งครรภ์ 2 ราย ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่โรงพยาบาลทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 หลังฉีดได้ 1-2 วัน ทารกในครรภ์เสียชีวิต

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นของกรมควบคุมโรค พบว่า รายแรกที่เป็นหญิงอายุ 39 ปี อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ หลังได้รับการฉีดวัคซีน 1 วัน แม่รู้สึกเด็กดิ้นน้อยลง มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุ่งหว้าและส่งต่อมายังโรงพยาบาลสตูล ตรวจสอบพบว่าเด็กเสียชีวิตแล้ว ขณะนี้กำลังทำคลอดโดยให้ยากระตุ้น เมื่อสามารถนำเด็กออกมาจากท้องแล้วจะต้องส่งไปตรวจพิสูจน์ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เพื่อหาสาเหตุในการเสียชีวิต คาดว่าจะทราบผลในอีก 1 สัปดาห์

นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า ส่วนรายที่2 หญิง อายุ 32 ปี ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ มีความชัดเจนแล้วว่าทารกไม่ได้เสียชีวิตจากการได้รับวัคซีน แม้จะได้รับวัคซีนมาก่อน 1 วันก็ตามและไม่เกี่ยวข้องกับการที่เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่พบว่าแม่มาโรงพยาบาลเพราะหกล้ม มีบาดเจ็บที่ศรีษะ ญาตินำส่งโรงพยาบาลหาดใหญ่ แพทย์พบว่ามีเลือดออกในสมอง ได้ทำการผ่าตัดสมองเพื่อช่วยชีวิต ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้องเพื่อช่วยชีวิตเด็ก ขณะนี้แม่และเด็กอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เชื่อว่าจะปลอดภัยทั้งแม่และลูก

“ก่อนหน้านี้มีกรณีหญิงตั้งครรภ์ซึ่งเข้ารับวัคซีนที่โรงพยาบาลวชิระและต่อมาทารกเสียชีวิตในครรภ์ 1 รายนั้น ผลการตรวจพิสูจน์ศพทารกเบื้องต้น พบว่า ทารกไม่ได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ แต่เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น รกไม่แข็งแรง เป็นต้น”นพ.ไพจิตร์กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวด้วยว่า ตนได้สั่งการให้จ.สตูลเพียงจังหวัดเดียวชะลอการฉีดวัคซีนเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อมูลเบื้องต้นจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาผลข้างเคียงหรือเหตุข้างเคียงที่อาจเกี่ยวพันกับวัคซีน ที่มี พญ.สุจิตรา นิมมานิตย์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นประธานในวันที่ 29 ม.ค.นี้ จากนั้นจะมีการตัดสินใจร่วมกันอีกครั้งว่าจะให้จ.สตูลดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับหญิงตั้งครรภ์หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความสบายใจให้กับประชาชนในจ.สตูล

ปลัด สธ.กล่าวอีกด้วยว่า จากการติดตามสถานการณ์ทั่วโลก ยังไม่มีประเทศใดมีรายงานว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนส่งผลให้เกิดอัตราเด็กเสียชีวิตสูงกว่าหญิงตั้งครรภ์ปกติที่มีโอกาสแท้งและคลอดก่อนกำหนดอยู่แล้ว และก่อนที่ประเทศไทยจะนำเข้าวัคซีนชนิดเชื้อตายเข้ามาให้บริการกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้มีการพิจารณาคัดเลือกอย่างรอบคอบแล้ว เมื่อฉีดให้กับประชาชนก็มีขั้นตอนการเฝ้าระวังติดตามมากกว่าการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ตามฤดูกาลและวัคซีนทั่วไป

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามปกติที่ไม่มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009ให้กับหญิงตั้งครรภ์จะมีอัตราเด็กเสียชีวิตในครรภ์ 7 รายต่อการเกิดพันราย และในแต่ละปีประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 8 แสนราย มีการแท้งประมาณ 80,000 ราย และเด็กเสียชีวิตในครรภ์ประมาณ 3,375 ราย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ และภายหลังการเริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่าอัตราการแท้งและเด็กเสียชีวิตในครรภ์ยังไม่ได้สูงกว่าภาวะปกติจนต้องระงับการให้วัคซีน โดยขณะนี้ดำเนินการฉีดวัคซีนนี้ให้กับหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศไปแล้ว 6 พันราย และเกิดผลข้างเคียงเพียง 2 รายเท่านั้น

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรด่วนสรุปว่าเกิดจากการรับวัคซีนต้องรอผลการสรุปจากพยาธิแพทย์และผู้เชี่ยวชาญก่อน และสธ.มีระบบการติดตามและเฝ้าระวังผลข้างเคียงภายหลังการฉีดวัคซีนที่ดี หากพบว่าวัคซีนล็อตใดมีปัญหาจะเก็บและเรียกคืนทันที จึงขอยืนยันและเชิญชวนหญิงตั้งครรภ์ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนดีกว่าจะปล่อยให้เกิดป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งในการให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชนกลุ่มเสี่ยงในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์เกิน 3 เดือนตั้งเป้าฉีดประมาณ 5 แสนคน

ด้าน นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ล่าสุดได้รับรายงานว่ามีหญิงตั้งครรภ์ในจ.พัทลุง มีอาการปอดอักเสบภายหลังได้รับการฉีดวัคซีนนี้ประมาณ 2-3 วัน และจากการตรวจหาเชื้อของโรงพยาบาลพัทลุงไม่พบเชื้อชนิดใดที่ให้ผลเป็นพวกแม้แต่โรคฉี่หนู ขณะนี้ได้ส่งตัวไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เบื้องต้นสงสัยว่าน่าจะเกิดจากโรคแพ้ภูมิตนเองหรือโรคเอสแอลอี

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อุบัติการณ์ทารกตายในครรภ์ อยู่ที่ 5-10 คนต่อหญิงตั้งครรภ์ 100 คน ซึ่งมีปัจจัยและความเสี่ยงจำนวนมากที่สามารถเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ ส่วนการฉีดวัคซีนอาจเป็นเพียงเหตุคล้องจองเท่านั้น จึงจำเป็นต้องชันสูตรหาสาเหตุที่แท้จริงคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชน คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งมีนพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน เพื่อหารือว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงคำแนะนำในการฉีดวัคซีนหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาระยะเวลาในการฉีดช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์โดยจะมีการประชุมกรณีพิเศษในวันที่ 29 ม.ค.นี้ จากเดิมที่จะมีการประชุมวาระปกติในวันที่ 9 ก.พ.

“สธ.ไม่ได้บังคับให้ประชาชนฉีดวัคซีน เป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น ต่อจากนี้แพทย์จำเป็นต้องแนะนำประชาชนอย่างละเอียดเพื่อสร้างความมั่นใจ ซึ่งในขณะนี้ สธ.ได้แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หลัง 3 เดือนจนถึงก่อนคลอดเข้ารับวัคซีน เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน โดยจะเร่งพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนสบายใจที่จะเข้ามารับวัคซีน” นพ.คำนวณ กล่าว

นพ.คำนวณ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมีเกิดขึ้นในต่างประเทศเช่นกัน โดยพบที่ประเทศไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังมีการศึกษาและทบทวนอยู่เช่นกัน แต่ยังไม่มีการยกเลิกการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด สำหรับการชันสูตร จะมีการตรว0ชิ้นเนื้อ เพาะเชื้อ และดูความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยจะมีการตัดสาเหตุอื่นในการเสียชีวิตออกจนหมดก่อน แล้วจึงจะสามารถสรุปได้ว่า เกิดขึ้นจากวัคซีน เพื่อที่จะดำเนินการทบทวนมาตรการการฉีดวัคซีนต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการประเมินทางวิชาการ หากมีการฉีดวัคซีนได้ครบ 2 ล้านโดสจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ได้ประมาณ 100 คน และลดผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาได้ประมาณ 1 หมื่นคน
กำลังโหลดความคิดเห็น