โรงเรียนเปรียบได้กับเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็กนักเรียน นอกจากการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ผู้ปกครองแล้ว ในแต่ละวันกิจกรรมส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่โรงเรียนไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้คือการเจ็บไข้ได้ป่วย หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าสถานที่อย่าง “ห้องพยาบาล” จึงมีความสำคัญอย่างมาก
ทว่าจากการออกสำรวจห้องพยาบาล ในโครงการ “ตู้ยาโรงเรียน” ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.) และ บริษัทบูพา ประกันสุขภาพ (ประเทศไทย) กลับพบว่าห้องพยาบาล และตู้ยาประจำโรงเรียนกลับไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร ในเรื่องนี้ รศ.ดร.เสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล ในฐานะกรรมการและเลขาธิการ วพย. ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจสุขภาพนักเรียน และห้องพยาบาลในโรงเรียนกว่า 30 แห่งแถบพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และตามภูมิภาค ทั้งระดับประถมฯ และมัธยมฯ พบว่า โรคที่พบบ่อยในเด็กได้แก่ ไข้หวัด ปวดหัว ปวดท้อง อุบัติเหตุต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของนักเรียน อย่างเด็กผู้หญิงชั้นมัธยมฯ ก็จะมีอาการปวดท้องจากประจำเดือนเข้ามา ส่วนชั้นประถมฯ จะพบปวดท้องโรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย ซึ่งพบมากเช่นกัน เนื่องจากเด็กจะไม่ค่อยกินข้าวเช้ามาเรียน เด็กจึงปวดท้องเป็นประจำ
นอกจากนี้ยังพบว่าโรงเรียนทุกแห่งมีห้องพยาบาล และตู้ยา แต่ปัญหาคือตู้ยาจะขาดการดูแล ยาหมดอายุ ไม่มีการจัดระเบียบตู้ยา คือ ยาใช้ภายนอก ภายใน วางรวมกัน ผ้าพันแผล ผ้าก็อต ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ส่วนเตียงนอนบางแห่งมีไม่เพียงพอ จึงจับผู้ป่วยนอนรวมกัน 2 คน/ 1 เตียง ซึ่งปัญหานี้จะพบมากในโรงเรียนขนาดเล็กตามต่างจังหวัด อีกทั้งนักเรียนบางส่วนเมื่อเจ็บไข้ไม่สบายก็จะไปซื้อยากินเองโดยไม่เข้ารับการบริการจากห้องพยาบาล
รศ.ดร.เสาวคนธ์ บอกอีกว่า ปัญหาที่พบอีกส่วนคือโรงเรียนหลายแห่งขาดครูประจำห้องพยาบาล ซึ่งขาดทั้งทักษะ ความรู้เชิงวิชาการ องค์ความรู้เรื่องการใช้ยา วิธีการดูแลเบื้องต้น ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญเนื่องจากโรงเรียนประถมฯ และ โรงเรียนมัธยมฯ ก็จะมีลักษณะความจำเป็นในการใช้ยาที่แตกต่างกันออกไป
“อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งอบรม สร้างองค์ความรู้มาสนับสนุนครูพยาบาลให้มีจำนวนเพียงพอกับภาระหน้าที่ ดังนั้นหากมีการร่วมกันพัฒนาทักษะด้านการพยาบาล ให้กับครูอย่างน้อยโรงเรียนละ 1 คน ที่ทำหน้าที่ครูพยาบาล และฝึกอบรมอาสาสมัครนักเรียนประจำห้องพยาบาล ให้เรียนรู้การใช้ยา การดูแลอาการ ก็น่าจะช่วยทุเลาความเจ็บป่วยเบื้องต้นก่อนถึงมือหมอ และมีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย ” รศ.ดร.เสาวคนธ์ ฝากทิ้งท้าย