xs
xsm
sm
md
lg

พบนร.ตจว.เมินใช้ห้องพยาบาล ตู้ยาไร้การดูแล ครูพยาบาลไม่พอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
พบนักเรียนต่างจังหวัดส่วนใหญ่เลี่ยงเข้าห้องพยาบาล หันซื้อยากินเอง ตู้ยาขาดการดูแล ยาหมดอายุ ยาทา - ยากินตั้งรวมกัน เตียงคนไข้ไม่พอใช้ ครูประจำห้องพยาบาลขาดองค์ความรู้การใช้ยา วิธีดูแลเบื้องต้น วอน ศธ.จัดพัฒนาฝึกอบรมครูให้มีความเข้าใจเพียงพอ

วันนี้(3 ก.พ.) ที่โรงแรมอินทรา รีเจนท์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา(วพย.) และบริษัทบูรพา ประกันสุขภาพ(ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันจัด “โครงการตู้ยาโรงเรียน” โดยฝึกอบรมให้ความรู้การใช้ยาอย่างเหมาะสมสำหรับโรงเรียน ครั้งที่ 1 ให้กับโรงเรียนมัธยมในสังกัด สพฐ.จำนวน 150 คน จาก 14 โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ ให้คำแนะนำแก่นักเรียนและครูประจำห้องพยาบาล ในเรื่องการบริหารตู้ยา วิธีการใช้ยา การเก็บรักษายา และการสังเกตคุณภาพยาเพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งมอบตู้ยาและเวชภัณฑ์ให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน จำนวน 30 แห่ง

รศ.ดร.เสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะกรรมการและเลขาธิการ วพย. กล่าวว่า จากการสำรวจห้องพยาบาลเบื้องต้นในโรงเรียนกว่า 30 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และตามภูมิภาค ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา พบว่าโรคที่พบบ่อยในเด็กนักเรียนได้แก่ ไข้หวัดทั่วไป แผลจากหกล้ม และปวดท้อง ซึ่งพบนักเรียนบางส่วนเมื่อเจ็บไข้ไม่สบายจะไปซื้อยากินเองโดยไม่เข้ารับการบริการจากห้องพยาบาล ขณะที่ทุกโรงเรียนมีห้องพยาบาล และมีตู้ยาสามัญประจำในทุกแห่ง แต่ปัญหาคือตู้ยาจะอยู่ในสภาพที่ขาดการดูแล มียาบางส่วนหมดอายุ และไม่มีการจัดระเบียบตู้ยา คือ ยาใช้ภายนอก ภายใน อยู่รวมกัน ผ้าพันแผล ผ้าก็อต ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ส่วนเตียงนอนบางแห่งมีไม่เพียง ถึงขนาดว่าเตียงเดียวกันแต่มีนักเรียนที่เจ็บป่วยนอนรวมกัน 2 คน ซึ่งปัญหาความขาดแคลนนี้จะพบมากในโรงเรียนขนาดเล็กตามต่างจังหวัด ซึ่งจะมีครูจำนวนน้อย แต่ต้องทำหน้าที่ดูแลนักเรียนจำนวนมาก ขณะที่โรงเรียนในกรุงเทพฯ จะไม่ค่อยพบปัญหาดังกล่าว เพียงแต่ครูที่ดูแลห้องพยาบาลยังขาดทักษะเรื่องยา การดูแลเด็กเบื้องต้นเท่านั้น

รศ.ดร.เสาวคนธ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่พบอีกส่วนคือโรงเรียนหลายแห่งขาดครูประจำห้องพยาบาล ซึ่งหมายถึงครูที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นให้แก่นักเรียน ทั้งนี้หากมีครูที่มีความรู้ ความเข้าใจเพียงพอ หน้าที่ในการจัดการส่วนนี้ก็จะดีขึ้น นอกจากนี้ยังพบอีกว่าโรงเรียนหลายแห่งยังขาดวิชาการที่ไปสนับสนุนเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นภายในห้องพยาบาล ทั้งองค์ความรู้เรื่องการใช้ยา วิธีการดูแลเบื้องต้น ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญเนื่องจากโรงเรียนประถมฯ และ โรงเรียนมัธยมฯ ก็จะมีลักษณะความจำเป็นในการใช้ยาที่แตกต่างกันออกไป

“ทุกภาคส่วน รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการต้องสนับสนุนครูให้มีจำนวนเพียงพอกับภาระหน้าที่ รัฐบาลจึงต้องจัดสรรงบประมาณในการฝึกอบรมตรงนี้ อย่างในโรงเรียนเอกชนจะมีการจ้างพยาบาลวิชาชีพมาอยู่ประจำ แต่โรงเรียนรัฐส่วนใหญ่ก็จะติดปัญหาเรื่องงบ ดังนั้นจึงต้องร่วมกันพัฒนาทักษะ สนันสนุนให้ครูในโรงเรียนเพียงแค่ 1 คน ที่มีความรู้ด้านนี้ และทำหน้าที่เป็นครูพยาบาล ก็จะช่วยได้มาก” รศ.ดร.เสาวคนธ์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น