"หมอมงคล" เตรียมเสนอสธ.-คสช.ไม่เห็นด้วยเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติ เหตุไทยยังขาดแคลนแพทย์ หวั่นสมองไหล ด้านคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ชี้ควรเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพความพร้อม เปิดหลักสูตรนานาชาติได้หวังยกระดับมหาวิทยาแพทย์ไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับสากล รออีก 10 ปี หมอไทยอาจล้าหลังกว่าเวียดนาม ขณะที่โพลเผยประชาชน กว่า77% หนุนเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติ
เมื่อเวลา 8.30 น.วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมริชมอนด์ "นพ.มงคล ณ สงขลา" ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะ เรื่อง “การผลิตแพทย์นานาชาติ สังคมได้อะไร” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
โดยนพ.มงคล กล่าวว่า จากการหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มาให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งข้อดีข้อเสียก่อนในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปอยู่ในตัวเองแล้วว่าสังคมจะได้อะไรหรือเสียอะไร การที่มหาวิทยาลัยแพทย์มีการเตรียมการหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ สามารถดำเนินการได้ ไม่เสียหาย แต่ในขณะนี้ถือว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะเปิดหลักสูตรนี้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีปัญหาด้านกำลังคนซึ่งสั่งสมมายาวนาน โดยเฉพาะการขาดแคลนวิชาชีพแพทย์และการกระจายตัวของแพทย์ให้สอดคล้องและเพียงพอกับความต้องการของประชาชน อย่างไรก็ตามจะนำข้อสรุปเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้
“การเปิดหลักสูตรแพทย์นานชาติไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ดังนั้นการจะเริ่มลงมือปฏิบัติ ควรจะรอให้การแก้ปัญหาวิกฤตการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ทุเลาลง สามารถคลี่คลายปัญหาได้ในระดับหนึ่งก่อน ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะใช้เวลากี่ปี แต่มีการประเมินว่า น่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี”นพ.มงคลกล่าว
ด้าน ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า 4 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยผลิตแพทย์หลักสูตรปกติได้ปีละ 1,000 กว่าคน แต่ปัจจุบันตั้งเป้าที่ประมาณ 2,800 คน ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีจะเพิ่มเป็น 3,000 คน ซึ่งสอดรับกับตัวเลขที่ สธ.ประเมินว่า อีก 10 ปีข้างหน้าจะต้องมีแพทย์ในอัตราส่วน 1 คนต่อผู้ป่วย 1,600 คน ซึ่งคิดว่าเพียงพอ เพราะขณะนี้จุฬาฯ สามารถผลิตแพทย์ได้ปีละ 300 คน ซึ่งในการผลิตแพทย์เพื่อแก้ปัญหาการคาดแคลนจุฬาฯ รับผิดชอบดำเนินการต่อไปอยู่แล้ว แต่ในส่วนของการผลิตแพทย์หลักสูตรแพทย์นานาชาตินั้น ถือว่าจำเป็นเช่นกัน ต้องมีการดำเนินการควบคู่กันไป เนื่องจากการจะพัฒนาด้านการแพทย์ให้ทั่วโลกยอมรับก็ต้องมีความเป็นนานาชาติด้วย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมีชื่อเสียง ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการเปิดหลักสูตรดังกล่าวเพียงเพราะหวังเก็บค่าใช้จ่ายในอัตราที่สูงอย่างแน่นอน
ศ.นพ.อดิศร กล่าวต่อว่า ในส่วนของคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ ได้หารือเกี่ยวกับหลักสูตรแพทย์นานาชาติมานานกว่า 5 ปี เนื่องจากเรามีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าจะเป็นโรงเรียนแพทย์ระดับโลก ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรแพทย์นานาชาติถือเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้จุฬาฯ พร้อมแล้วทุกด้านแต่หากนโยบายในระดับชาติไม่เห็นด้วยหรือยังมีกระแสสังคมยังคงคัดค้านก็จะยังไม่เสนอต่อสภามหาวิทยาลัย แต่เห็นว่าควรจะเปิดโอกาสให้มหาวิทยาแพทย์ที่มีศักยภาพไปสู่ระดับโลก โดยเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติ ซึ่งหากอีก10 ปี มานั่งหารือกัน อีกไม่กี่ปีไทยอาจจะล้าหลังกว่าเวียดนาม
“เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ มศว จุฬาฯ เท่านั้นแต่คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็สนใจเรื่องนี้เช่นกัน เพียงแต่การจะเปิดหลักสูตรดังกล่าวจะต้องมีความพร้อมจริงๆ ส่วนกรณี มศว น่าจะมาจากประชาคมใน มศว เองยังไม่พร้อมเต็มร้อย เรื่องนี้ต้องมีการจัดการภายในก่อน หากสภามหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยก็ไม่ควรเปิดหรือดึงดัน” ศ.นพ.อดิศร กล่าว
ด้าน ศ.นพ.ปกิต วิชยานนท์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทางคณะฯมีความเห็นเดียวกับทางจุฬาฯ และ มศว โดยเห็นว่า การผลิตแพทย์หลักสูตรปกติมีความจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการพัฒนาแพทย์หลักสูตรนานาชาติก็สำคัญ เพราะอย่าลืมว่า คุณภาพของโรงเรียนแพทย์ต้องดีขึ้นเรื่อยๆ และการประกันคุณภาพของโรงเรียนแพทย์จำเป็นต้องประสานข้อมูล ทำงานร่วมกันประเทศอื่นๆ เพราะนอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้ไทยแล้ว ยังพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ของไทยด้วย
นายเทวินทร์ อินทรจำนง ผู้ช่วยผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ กล่าวว่า จากการสอบถามความคิดเห็นประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 1,101 ครัวเรือน ระหว่างวันที่ 7-8 ก.พ. 2553 เรื่อง “ความคิดเห็นต่อหลักสูตรแพทย์นานาชาติ“ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 77.1 % สนับสนุนให้เปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติในสถาบันการศึกษาของรัฐในขณะนี้ มีเพียง 11.9 %ที่ไม่สนับสนุนและ11 % ไม่มีความคิดเห็น โดย 89.2 % เห็นว่าต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ 91.7 % ไม่ทราบข่าวเรื่องนี้มาก่อน
นายเทวินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อดีของการเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติ กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า 72 % จะทำให้นักเรียนไม่ต้องออกไปเรียนวิชาแพทย์ที่เมืองนอก 86.5 % เห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติในไทยได้มีโอกาสเรียนแพทย์มากขึ้น 62.8 เน้นให้ผู้เรียนลงทุนในการเรียนเอง จะได้ประหยัดงบประมาณของรัฐ 84.3 % ทำให้คนไทยมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านการแพทย์กับสถาบันระดับนานาชาติได้มากขึ้น 79.7 %จะได้แพทย์ที่เก่งภาษาอังกฤษ และ81.4 % สนับสนุนให้ธุรกิจบริการทางการแพทย์ของไทยมีโอกาสแข่งขันกับต่างชาติเมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าในอาเซียน
นายเทวินทร์ กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อเสีย กลุ่มตัวอย่าง 79.6 %เห็นว่าการเปิดหลักสูตรนี้ จะทำให้การเรียนการสอนวิชาแพทย์เป็นไปเพื่อสร้างรายได้ให้กับสถาบันที่สอน 66 % จะดึงดูดให้อาจารย์แพทย์ไปสอนหลักสูตรนี้ ทำให้นักเรียนแพทย์ปกติทั่วไปขาดโอกาสได้เรียนกับอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญ 73.5 % แพทย์ที่เรียนจบหลักสูตรนี้จะมุ่งทำงานในโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าตอบแทนสูงมากกว่าจะไปทำงานในชนบท 52.7 % หากสถาบันทุ่มเทให้กับหลักสูตรนี้จะทำให้โอกาสในการผลิตแพทย์ปกติทั่วไปลดลง ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์รุนแรงมากขึ้น 89.8 % ประชาชนทั่วไปต้องการแพทย์ที่เก่งในทางรักษามากกว่าเก่งในทักษะภาษอังกฤษ และ 72.7 % เห็นว่า เป็นการส่งเสริมการบริการทางการแพทย์ในเชิงพาณิชย์
ขณะที่ นพ.สุวัฒน์ เลิศสุขประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กล่าวว่า การเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์ นานาชาติ จะส่งผลกระทบต่อการผลิตแพทย์เพื่อคนไทยอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้แพทย์ไหลออกไปทำงานในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งที่ภายในประเทศยังมีความต้องการแพทย์จำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีแพทย์ไทยไปทำงานต่างประเทศเพียงประมาณ 100 คนจากแพทย์ทั้งหมดกว่า 3 หมื่นคน แต่หากเปิดหลักสูตรนี้เชื่อว่าจำนวนแพทย์ที่ไหลไปทำงานในต่างประเทศไม่ต่างจากประเทศฟิลิปปินส์ที่สอนหลักสูตรแพทย์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีอัตราแพทย์ไปทำงานต่างประเทศถึง 80 %
ด้าน ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) ในฐานะเลขานุการสภามหาวิทยาลัย มศว กล่าวว่า สภามหาวิทยาลัยยังไม่ได้มีการรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ นานาชาติและพร้อมรับฟังทุกเหตุผล โดยมติเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2552 ว่า คณะแพทยศาสตร์จะเสนอหลักสูตรนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยได้ต่อเมื่อมีเอกสารแนบใน 3 ส่วน สำคัญ ได้แก่ 1.คณบดีคณะแพทยศาสตร์มีการหารือกับคณาจารย์และมีความเห็นพ้องต้องกัน 2.มีความพร้อมทางด้านการวางแผนพัฒนาบุคลากร ด้านวิจัยพัฒนา ด้านวิชาการและที่สำคัญการมีประโยชน์อย่างชัดเจนต่อสังคมไทยและ3.ให้นำความเห็นของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.)ในเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคณาจารย์, ความพร้อมของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯและคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลชลประทานโอนมาให้กับมศว เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนแพทย์ในชนบท มาดำเนินการปรับปรุงให้ครบ
นายศุภชัย ครบตระกูลชัย นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ แต่ควรจะกลับมาพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคปกติ ที่ขณะนี้ยังมีปัญหาในด้านคุณภาพ ทั้งอาจารย์แพทย์ที่สอนไม่เพียงพอ และไม่เพียงพอที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักศึกษาแพทย์ได้ เมื่อศึกษาจบหลักสูตรก็รู้สึกไม่มั่นใจในการที่จะเป็นแพทย์ที่มีความสามารถในการให้บริการรักษาประชาชนได้ อีกทั้งหลักสูตรฯ ไม่สามารถทำให้นักศึกษาเห็นคุณค่าของการเป็นแพทย์เพื่อคนในชนบทที่ห่างไกล ดังนั้น ส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบออกมาก็มักจะเน้นโรงพยาบาลที่ให้ค่าตอบแทนได้มากและงานไม่หนัก
ด้าน น.ส.พีรดา ขวานเพชร นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยรังสิต และนายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ที่มหาวิทยาลัยรังสิตจะมีการเปิดรับนักเรียนนานาชาติโดยให้โควต้าแห่งละ 5 คน รวมถึงมีนักเรียนที่จบการศึกษาจากอินเดียมาเรียนหลักสูตรแพทยศาสตร์ด้วย แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเปิดหลักสูตรนานาชาติเช่นกัน เนื่องจากมีความไม่เหมาะสมหลายด้าน เช่น เป็นอุปสรรคในการเรียนการสอนร่วมกันในภาคการปฏิบัติในโรงพยาบาล เป็นต้น
ซึ่งหากมหาวิทยาลัยมีความต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพด้านทักษะการใช้ภาษาอังกฤษก็ควรจะมีการพัฒนาในส่วนของนักศึกษาแพทย์ที่เรียนหลักสูตรปกติ ที่สำคัญจากการได้เข้าฝึกภาคปฏิบัติที่โรงพยาบาลราชวิถีพบว่า มีแพทย์ชาวต่างชาติเพียง 2 ราย ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ซึ่งหนึ่งในนี้เป็นชาวจีนด้วย ขณะที่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเป็นแรงงานต่างด้าว เขมร พม่า ลาว ส่วนคนไทยก็เป็นชาวต่างจังหวัดที่ใช้ภาษาถิ่น ซึ่งแม้แต่การสื่อสารด้วยภาษาไทยกับคนกลุ่มนี้ก็ยอมรับว่า บางครั้งยังไม่สามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าได้ เพราะแพทย์มักจะติดการพูดภาษาด้านเทคนิคของแพทย์