สธ.พิจารณาทบทวนผลิตหมออินเตอร์ ด้านแพทยสภาเดินหน้ารับรองหลักสูตรแพทย์ ภาคภาษาอังกฤษ ย้ำทำตามอำนาจหน้าที่ ขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยตัดสินใจเปิดใช้หลักสูตรหรือไม่ ชี้ สธ.-สช.ควรกำหนดเป็นนโยบายประเทศ
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่แพทยสภาอนุมัติหลักสูตรแพทยศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ทำให้เกิดการขัดแย้งและเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่า ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม เนื่องจากเรื่องนี้มีความเห็นที่หลากหลาย ซึ่งในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ ตั้งแต่เวลา 08.30 น.เป็นต้นไป คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน จะเปิดรับความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ นอกจากนี้ ทางแพทยสภาเองก็จะพิจารณาทบทวนเรื่องนี้ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ซึ่ง สธ. มีตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการแพทยสภาหลายคน โดยเฉพาะ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ร่วมเป็นกรรมการด้วย ทั้งหมดน่าจะได้ข้อยุติเร็วๆนี้
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า การดำเนินการใดๆ ก็ตามจะต้องไม่กระทบต่อการผลิตแพทย์เพื่อดูแลสาธารณสุขสำหรับคนไทยในปัจจุบัน รวมทั้งต้องไม่กระทบต่อการบริการของประชาชนชาวไทยด้วย อย่างไรก็ตาม การที่ มศว จะรับนักศึกษาแพทย์หลักสูตรภาษาอังกฤษเพียงแค่ 20 คนต่อปี จะกระทบต่อการผลิตแพทย์หรือไม่นั้น ขอดูในรายละเอียดก่อน โดยเฉพาะในส่วนเงื่อนไขว่าจะกระทบต่อภาพรวมหรือไม่ เช่น เรื่องการบังคับใช้ทุน การบรรจุแพทย์เพื่อใช้ทุน ทั้งหมดต้องดูรายละเอียดหลายอย่างมาประกอบการพิจารณา จะฟังเพียงอย่างไรอย่างหนึ่งคงไม่ได้
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคภาษอังกฤษของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นไปตาม มาตรา 8 (4) ของพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ที่ให้แพทยสภามีอำนาจหน้าที่ในการรับรองหลักสูตรแต่ในด้านนโยบายจะให้มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนใดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณา ส่วนนโยบายในระดับประเทศกระทรวงสาธารณสุข หรือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มีหน้าที่ในการร่วมกันกำหนดนโยบายในการผลิตบุคลกรทางการแพทย์ ควรจะเสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นนโยบายของประเทศให้ชัดเจนว่า มีความต้องจะเปิดหลักสูตรอินเตอร์หรือไม่ เพราะหากในระดับนโยบายไม่ต้องการหลักสูตรดังกล่าวก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้อยู่แล้ว
นพ.สัมพันธ์ กล่าวต่อว่า ในอนาคตหากรัฐบาลรัฐบาลจะใช้จุดแข็งทางการแพทย์ของไทย นำมาเป็นนโยบายของรัฐบาล ในด้านการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือเมดิคอลฮับ ในระยะยาวควรสนับสนุนการผลิตแพทย์ในหลักสูตรอินเตอร์เพื่อรองรับเหตุผลด้านเศรษฐกิจอย่างในประเทศฟิลิปินส์เป็นต้น แต่เนื่องจากปัจจุบันหลายฝ่ายต้องการเห็นแพทย์ในประเทศมีอย่างพอเพียง จึงต้องดูกระแสสังคมด้วย
“แพทยสภายืนยันว่าไม่ได้รับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ หรือหลักสูตรอินเตอร์ แต่เป็นการรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เท่านั้น ซึ่งในวันที่ 11 ก.พ. หลังจากที่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทั้งฝ่ายที่คัดค้านและเห็นด้วย จะมีการรับรองมติที่เกิดขึ้นซึ่งคณะกรรมการแพทบยสภาที่เป็นคณบดีคณะแพทย์ต่างๆ มีแนวโน้มเห็นด้วยในการรับรองหลักสูตรนี้ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 หลักสูตรมีความแตกต่างกัน หลักสูตรแพทย์ฯ ภาษาอังกฤษจะไม่เปิดรับชาวต่างชาติ หรือผลิตแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติ นักศึกษาต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเองและต้องใช้ทุนทำงานในชนบท 3 ปี เหมือนกับหลักสูตรปกติ ที่สำคัญต้องไม่เบียดบังหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคปกติของมหาวิทยาลัยด้วย” นพ.สัมพันธ์ กล่าว