xs
xsm
sm
md
lg

6 หมอ มศว ร้องแพทยสภาขู่ ค้านเปิดสอนหมอภาษาอังกฤษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
6 หมอ มศว ร้องถูกแพทยสภาขู่คุกคาม หลังคัดค้านอนุมัติหลักสูตรแพทยศาสตร์ภาษาอังกฤษ ศูนย์ทนายอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมให้ความช่วยเหลือ 6 อาจารย์แพทย์ มศว หากถูกแพทยสภาเอาเรื่อง

จากการณีที่แพทยสภาได้มีมติอนุมัติในหลักการของหลักสูตรแพทย์ศาสตร์ ภาษาอังกฤษ แทนหลักสูตรแพทย์ศาสตร์นานาชาติ ที่เสนอโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ม.ค.และจะมีการรับรองมติในการประชุมวันที่ 12 ก.พ.นี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านว่าจะส่งผลต่อการผลิตแพทย์ที่จะไปรักษาคนไทยในชนบท โดยเฉพาะกลุ่มคณาจารย์ 6 ท่าน จากคณะแพทยศาสตร์ มศว ได้ออกมาคัดค้านการอนุมัติหลักสูตรดังกล่าวนั้น

นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว ) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ผู้บริหารของแพทยสภาได้ส่งอีเมล์ถึงกรรมการแพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้งและ ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มศว. ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง เพื่อขอแนวทางปฏิบัติ ต่อกลุ่มคณาจารย์ 6 คนจากคณะแพทยศาสตร์ มศว.ที่นำเสนอบทความบทบาทแพทยสภากับการผลิตบัณฑิตแพทย์เพื่อคนไทย โดยรุบุว่า เป็นการกล่าวหาแพทยสภาที่ไม่ถูกต้องนัก จากนั้น คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มศว. ยังได้มีการเผยแพร่อีเมล์ดังกล่าวไปยังหัวหน้าภาควิชาทุกคนของคณะแพทย มศว. พร้อมกับข่าวที่กลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์สนับสนุนหลักสูตรดังกล่าวด้วย

“การที่มีการเวียนอีเมลล์ฉบับดังกล่าวที่ระบุว่า “เพื่อขอแนวทางปฏิบัติ” ในการดำเนินการกับแพทยืที่คัดค้านนั้น เหมือนกับเป็นการขู่ และคุกคามว่าอย่ามายุ่ง หรือคัดค้านหลักสูตรนี้ เพราะอาจจะโดนดำเนินการอะไรบางอย่าง เพื่อให้เกิดความกลัวหรือไม่ แม้ว่าในหนยังสือดังกล่าวจะไม่ได้บอกว่า จะฟ้องร้องหรือสอบสวนใดๆ แต่ก็ไม่ได้กลัว เพราะหากกล้าพูดต้องกล้ารับผิดชอบต่อคำพูด ซึ่งการแสดงออกครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการว่ากล่าวตัวบุคคล แต่เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการเท่านั้น ซึ่งถ้าหนังสือดังกล่าวมาจากแพทยสภาจริงจะสะท้อนถึงวุฒิภาวะของแพทยสภามากกว่า เพราะหากเป็นคนที่มีวุฒิภาวะก็ควรจะเชิญให้กลุ่มแพทย์ทั้ง 6 คน ที่ไม่เห็นด้วยเข้าให้ข้อมูลหรือรับฟังความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม หากมีการฟ้องร้องจริงคงต้องหาคนช่วยเพราะเป็นอาจารย์แพทย์ แสดงความคิดเห็นทางวิชาการ จึงไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้”นพ.สุธีร์กล่าว

นพ.สุธีร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การอนุมัติหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ถือเป็นการเลี่ยงทุกวิธีทางที่จะให้หลักสูตรดังกล่าวออกมาให้ได้มากกว่า คงต้องพิจารณาว่ามีการเปลี่ยนหรือปรับหลักสูตรอย่างไรหรือไม่ แต่หากเป็นหลักสูตรเดิมก็ถือว่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยที่ต้องการหลักสูตรนานาชาติ เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้ามาเรียน ดังนั้น หลักสูตรดังกล่าวควรมีการนำกลับเข้ามาที่คณะกรรมการพิจารณาหลักสูตรเพื่อปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสม ไม่ใช่เป็นการพูดคุยกันระหว่างแพทยสภากับคณบดีแพทย์ มศว เท่านั้น

ด้านนายชัยรัตน์ แสงอรุณ กรรมการมูลนิธิ และที่ปรึกษาศูนย์ทนายอาสาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้ทางมูลนิธิฯ และศูนย์ทนายอาสา กำลังเกาะติดเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะถือว่าเป็นการแสดงความเห็นที่เกี่ยวพันกับผู้บริโภคโดยตรง หากแพทยสภาจะเอาผิด หรือดำเนินการทางกฎหมายกับคณาจารย์ทั้ง 6 ท่านที่ออกมาคัดค้านหลักสูตรฯ ดังกล่าว ทางศูนย์ฯพร้อมให้ความช่วยเหลือทาง
กฎหมายอย่างเต็มที่

ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรืองนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค และโดยเฉพาะการกระจายแพทย์ ไม่ควรผูกขาดการตัดสินใจดำเนินการเพียง โรงเรียนแพทย์ต่างๆ กับแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น รัฐบาลจะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ แม้ว่า หลักสูตรดังกล่าวจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กที่จบจากโรงเรียนนานาชาติได้ศึกษาต่อแต่ทั้ง 3 หน่วยงานคงต้องตอบคำถามแก่สังคมด้วยว่า หน้าที่ในการผลิตแพทย์เพื่อคนที่อยู่ในชนบทห่างไกลจะทำเช่นไร จะทำอย่างไรให้แพทย์ที่จบแล้ว อยู่ใช้ทุนให้สังคมก่อน 3 ปี แทนที่จะจ่ายเงินแค่ 4 แสนบาทแล้วออกไปทำงานเอกชน

“คณะแพทยศาสตร์ ของ มศว และโรงเรียนแพทย์อื่นๆ ที่กำลังจะเปิดหลักสูตรเช่นนี้ คงต้องแจ้งต่อสาธารณะถึงพันธกิจต่อสังคมว่า ในขณะที่รับค่าเล่าเรียน 8 ล้านบาทจากนักเรียนในหลักสูตรเหล่านี้ จะนำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อส่งเสริมการผลิตแพทย์เพิ่มในชนบทอย่างไรจึงจะถือว่าโรงเรียนแพทย์ได้ทำหน้าที่ต่อสังคมอย่างสมดุลย์” น.ส.กรรณิการ์กล่าว

กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า แพทยสภา และกระทรวงสาธารณสุข ควรมีการรับฟังความคิดเห็นองค์กรผู้บริโภค กลุ่มผู้ป่วย เนื่องจากเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 61 และนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้มีคนนอกเข้าไปร่วมเป็นกรรมการแพทยสภา เช่น ในหลายประเทศ เพื่อที่มุมมองของแพทยสภาจะได้เป็นไปเพื่อสังคมและเพื่อประชาชนมากขึ้น

ด้านนพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวถึงความพยายามในการการเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติว่า จริงๆแล้วเท่ากับการเปิดโรงเรียนแพทย์เอกชนในโรงเรียนแพทย์ของรัฐ ใช้ทรัพยากรของรัฐ อาจารย์ของรัฐ เพื่อหารายได้เข้ามหาวิทยาลัย การเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติควรทำในโรงเรียนแพทย์เอกชน ไม่ใช่มาทำในโรงเรียนแพทย์ของรัฐ เพราะไม่ใช่ภารกิจของรัฐบาล

“ขณะนี้รัฐบาลเร่งผลิตแพทย์ปีละ 2,000 คน เพียงเท่านี้อาจารย์ก็ไม่มีเวลาสอนให้มีคุณภาพอยู่แล้ว อาจารย์คนหนึ่งสอนนักศึกษาข้างเตียงผู้ป่วย 30-40 คน นักศึกษาคนหลังไม่เห็นหน้าผู้ป่วยเลยก็มี บางครั้งนักศึกษาแพทย์บางคนไม่เคยได้ฝึกผ่าตัดไส้ติ่งที่ดูแลโดยอาจารย์แพทย์ ต้องออกไปฝึกหัดเอาเองกับแพทย์รุ่นพี่ที่โรงพยาบาลจังหวัด โรงเรียนแพทย์ควรสนใจในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ไทยมากกว่าไปสนใจพัฒนาแพทย์ให้ต่างประเทศ ขณะนี้อาจารย์แพทย์ก็ไม่เพียงพอเพราะถูกดึงไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนด้วยค่าตัวที่แพง การแพทย์กำลังพัฒนาไปสู่ระบบทุนนิยม ที่คนรวยจะได้รับการบริการที่ดีกว่า การพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติจะยิ่งสนับสนุนให้เป็นอย่างนั้นมากขึ้น เรื่องนี้ไม่เป็นการสนับสนุนการกระจายแพทย์ไปสู่ชนบท แต่จะทำให้ช่องว่างทางสังคมคือคนรวยที่ลูกสอบแพทย์ไม่ได้จะสมัครมาเรียนแพทย์ในหลักสูตรนานาชาตินี้มากขึ้น เพราะไม่ต้องส่งลูกไปเรียนแพทย์ที่ต่างประเทศแล้ว” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องนี้ โดยฝากถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ที่จะขอดูรายละเอียดจากแพทยสภา และตั้งคณะกรรมการทบทวนเรื่องนี้เพราะความรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น