xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาเตรียมถกร่างหลักสูตรหมออินเตอร์ มศว 11 ก.พ.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทยสภาเตรียมถกร่างหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ภาคภาษาอังกฤษ ของมศว 11 ก.พ.นี้ ชี้เปิดสอนแพทย์แบบอินเตอร์เคยใช้ที่รามาธิบดีมาแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ ขณะที่อาจารย์ มศว ยัน ต้องทบทวนมติการอนุมัติหลักสูตร เพราะไม่ใช่หน้าที่แพทยสภา อัดไม่เข้าใจคำว่านโยบายสาธารณะ

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. กลุ่มคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) กลุ่มที่คัดค้านการเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ นำโดย นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ผศ.นพ.วิชิต ลีละศิธร ภาควิชารังสีวิทยา ผศ.พญ.สมัญญา ทิศาวิภาต ภาควิชาวิสัญญีวิทยา และผศ.นพ.ชัยพฤกษ์ กุสุมาพรรณโญ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา เดินทางเข้าพบ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ที่เรียกพบเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.สุธีร์ กล่าวว่า แพทยสภา เชิญมาหารือถึงการคัดค้านการอนุมัติหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ มศว ที่เสนอเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยแพทยสภาได้เปลี่ยนชื่อเป็นหลักสูตรโปรแกรมภาษาอังกฤษ รวมทั้งยังมีเงื่อนไขว่าผู้เรียนต้องมีสัญชาติไทยและต้องปฏิบัติงานชดใช้ทุน ซึ่งเป็นเพียงการลดแรงต้านจากสาธารณะ แต่ความเป็นจริงไม่แตกต่างนัก ที่สำคัญการอนุมัติหลักสูตรครั้งนี้เท่ากับเป็นการอนุมัติเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายนโยบายของประเทศ ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของแพทยสภา ที่มีหน้าที่เพียงการอนุมัติเพื่อกำกับควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐาน เป็นการทำงานที่ผิดหน้าที่ และไม่เข้าใจคำว่านโยบายสาธารณะ

“พวกผมได้เสนอข้อเรียกร้องต่อแพทยสภา 2 ข้อ คือ ขอให้แพทยสภาทบทวนและยกเลิกมติเรื่องอนุมัติหลักสูตรดังกล่าว และ ขอให้แพทยสภาเสนอเรื่องต่อฝ่ายนโยบาย คือ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และที่ประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อให้ศึกษาวิจัยผลกระทบอันเกิดจากนโยบายสาธารณะนี้ และเร่งประชุมหารือให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนจะมีการอนุมัติใดๆ ของแพทยสภาเกี่ยวกับหลักสูตรแพทยบัณฑิตนานาชาติหรือภาษาอังกฤษต่อไป” นพ.สุธีร์ กล่าว

นพ.สุธีร์ กล่าวอีกว่า หากไม่มีการศึกษาเชิงนโยบายก่อนอาจเกิดปัญหาต่อระบบการบริการของผู้ป่วยของประเทศได้ โดยเฉพาะในภาวะที่มีแนวคิดเมดิคัล ฮับ หรือ ศูนย์กลางทางด้านสุขภาพแห่งเอเชีย ซึ่งกำลังได้รับการตอบสนองโดยภาครัฐและเอกชน แต่หลักสูตรนี้จะยิ่งส่งผลทางลบต่อระบบการบริการและการผลิตแพทย์ เนื่องจากปกติก็มีการไหลออกของแพทย์จากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชนอยู่แล้ว ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะยิ่งสร้างปัญหาขึ้น

ด้านนพ.สมศักดิ์  กล่าวภายหลังการหารือ ว่า ในวันที่ 11ก.พ.นี้จะนำเรื่อง ที่กลุ่มคณาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ มศว คัดค้านร่างหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ภาคภาษาอังกฤษ เข้าที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภา เป็นวาระเร่งด่วน พร้อมย้ำว่าการจัดทำหลักสูตรมุ่งหวังการพัฒนาการแพทย์และทักษะด้านภาษา และไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในอดีตที่การเรียนการสอนของคณะแพทย์ฯ รพ.รามาธิบดีก็เคยมีการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เชื่อเป็นผลดีกับนักศึกษาแพทย์ไทย ไม่ต้องไปเรียนต่างประเทศ และเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนที่เรียน 2 ภาษา หรือโรงเรียนนานาชาติในไทย ที่มีความสามารถ ต้องการเรียนแพทย์ สามารถสานฝัน เรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ในไทยได้โดยไม่ต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ และทำงานต่างประเทศ ทำให้สูญเสียทรัพยากรบุคคลาที่มีความสามารถ

หลักสูตรที่จะเปิด รับเฉพาะเด็กไทยไม่ใช่ต่างชาติ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่า เป็นการผลิตแพทย์ชาวต่างชาติ ส่วนการแก้ไขปัญหาบุคลากรแพทย์ในระบบไหลออกไปภาคเอกชนนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องแก้ไข เพิ่มการดูแลรักษาแพทย์ให้คงไว้ในระบบ ซึ่งปัจจุบันก็พบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น”นพ.สมศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น