xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์เผย “บ้านเชียง” เป็นแหล่งศึกษามรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมเด็จพระเทพฯ” เสด็จเปิดอาคารกัลยาณิวัฒนาพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง 9 ก.พ. กรมศิลป์เผยเป็นแหล่งศึกษามรดกโลก 9 ห้อง พร้อมเผยแพร่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับบ้านเชียง” และโบราณวัตถุสำคัญจำนวนมาก ขณะที่กรมศิลป์ทำพิธีบวงสรวงปู่ขุนเชียงสวัสดิ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเชียงแล้ว

วันนี้(8 ก.พ.) นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีบวงสรวงปู่ขุนเชียงสวัสดิ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง แหล่งมรดกโลกบ้านเชียง จ.อุดรธานีว่า ในวันพรุ่งนี้( 9 ก.พ.) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารกัลยาณิวัฒนา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ทรงปลูกต้นหมากแข้ง และทอดพระเนตรนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ซึ่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ถือกำเนิดขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมชมการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515 เป็นผลให้คนในท้องถิ่นตื่นตัว ตระหนัก ในความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งเป็นอู่อารยธรรมแสดงความเจริญของท้องถิ่นนับย้อนไปในอดีตหลายพันปี จึงร่วมมือร่วมใจกันรักษาศิลปวัตถุในท้องถิ่นของตนไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติ

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า ต่อมากรมศิลปากรได้สร้างอาคารหลังที่ 2 ขึ้น เพื่อจัดแสดงนิทรรศการ และปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวร และส่วนบริการต่างๆ เมื่อปี 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรหลังใหม่ว่า “อาคารกัลยาณิวัฒนา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่ทรงมีต่อกิจการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ภายในประกอบด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศการ 9 ห้องที่สำคัญ ดังนี้

1.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กับบ้านเชียง จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ พระราชวินิจฉัยและแนวพระราชดำริ ซึ่งได้พระราชทานให้แก่เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเมื่อปี 2515 สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกลที่จะนำไปสู่การพัฒนากิจการด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของชาติในเวลาต่อมา

2.นิทรรศการประวัติการศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
3.การปฏิบัติงานทางโบราณคดีที่บ้านเชียง
4.หลุมขุดค้นทางโบราณคดีจำลอง
5
.โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ขุดค้นพบจากวัดโพธิ์ศรีใน
จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน ในยุคสมัยต่างๆของวัฒนธรรมบ้านเชียง อาทิ ภาชนะดินเผาสมัยต้น เนื้อดินสีดำตกแต่งที่ผิวภาชนะด้วยลายขูดขีดหรือภาชนะดินเผาสมัยปลาย ที่นิยมเขียนลายสีแดงที่ผิวภาชนะในรูปแบบต่างๆรวมถึงโบราณวัตถุที่ทำจากโลหะ อย่างเครื่องประดับสำริด

6.นิทรรศการวิถีชีวิตสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง จัดแสดงเรื่องราวและวิถีชีวิตของมนุษย์ในวัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในลักษณะของหุ่นจำลองเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมในอดีต การอยู่อาศัยและการทำกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ อาทิเช่น การล่าสัตว์ การทำภาชนะ ดินเผาเขียนลายสีแดง การทำโลหะกรรม การทอผ้า

7.นิทรรศการบ้านเชียงการค้นพบยุคสำริดที่สาบสูญ นิทรรศการส่วนนี้เป็นชุดนิทรรศการที่ได้รับการ ปรับปรุงและพัฒนามาจากชุดนิทรรศการเรื่องการค้นพบยุคสำริดซึ่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียได้จัด ทำขึ้นและนำไปจัดแสดงตามมลรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์เป็นชุดนิทรรศการที่ทำให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เนื้อหาการจัดแสดงของนิทรรศการจะนำเสนอหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคต่างๆ ที่มีการขุดพบในแถบเอเชียอาคเนย์จนกระทั่งมาถึงการค้นพบยุคสำริดที่สาบสูญของวัฒนธรรมบ้านเชียง

8.บ้านเชียงและมรดกโลก จัดแสดงเรื่องแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงที่ได้รับการยกย่องและประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกด้านวัฒนธรรมในลำดับที่ 359 เมื่อปี 2535 เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นพยานหลักฐานแสดงขนบธรรมเนียมประเพณีหรืออารยธรรม ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่หรือสูญหายไปแล้ว

9. การกระจายตัวของวัฒนธรรมบ้านเชียง จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุและผลสำรวจศึกษา การกระจายตัวของวัฒนธรรมบ้านเชียงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแอ่งสกลนคร ซึ่งกรมศิลปากรได้เริ่มการดำเนินสำรวจศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 และได้มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเชียงมากถึง 127 แหล่งกระจายอยู่อย่างหนาแน่นตามลุ่มน้ำสำคัญในเขตจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดสกลนคร อาทิ ลุ่มน้ำสงคราม ลำน้ำห้วยหลวง หนองหาน กุมภวาปี เป็นต้น ทั้งนี้อาคารดังกล่าวจึงถือเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ศึกษา วิจัย อนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น