xs
xsm
sm
md
lg

วธ.ห่วงอยุธยา ถูกถอดออกจากมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ยูเนสโก” ติงไทยเมินดูแลมรดกความทรงจำแห่งโลก ชี้ ต้องรักษาให้เด็กได้เรียนรู้ แนะจัดแคมเปญควบ “ศิลาจารึกหลักที่ 1” กับ “มรดกโลกสุโขทัย” หวังให้คนรู้จักความสำคัญมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลสั่งสภาที่ปรึกษาฯลงมาดูปัญหามรดกโลกหวั่นอยุธยาถูกถอด

ดร.ซูซานน์ โอร์นาเกอร์ ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและสารสนเทศของภูมิภาคเอเชีย ประจำองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมประกวดผลงานวิดีโอโครงการมรดกความทรงจำแห่งโลก (เมมโมรี่ ออฟ เดอะ เวิลด์) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า โครงการดังกล่าวจัดขึ้นโดยยูเนสโก เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในเอกสารของไทยที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ได้แก่ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสยามประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง และสรรพวิทยาการต่างๆ เกี่ยวกับฤๅษีดัดตนที่วัดโพธิ์ โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนพระแม่มารี พระโขนง กรุงเทพฯ เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 50 คน ซึ่งสาเหตุที่มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมเพียงแห่งเดียว เนื่องจากยูเนสโกไม่ใช่องค์กรที่มีกองทุนสำหรับมอบให้กับทุกโรงเรียน จึงคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อม อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่า ภายหลังได้เห็นผลสำเร็จของโครงการดังกล่าวแล้วจะมีโรงเรียนต่างๆ ให้ความสนใจที่จะสานต่อความตระหนักรู้เกี่ยวกับมรดกดังกล่าวให้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ทางยูเนสโกมีแนวคิดนำผลการจัดโครงการครั้งนี้เสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอให้ดำเนินการจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ต่อไปยังโรงเรียนต่างๆ ด้วย

ดร.ซูซานน์ กล่าวอีกว่า เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยมีการตระหนักรู้เกี่ยวกับมรดกความทรงจำแห่งโลกน้อยมาก ดังนั้นนอกจากการผลักดันโดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยูเนสโกแล้ว ตนอยากเห็นรัฐบาลไทยให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการสงวนและรักษามรดกความทรงจำแห่งโลกเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ นอกจากนี้ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชน เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงมรดกต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพราะเมื่อสามารถเข้าถึงได้แล้วจะทำให้เกิดความรู้และกลายเป็นความภาคภูมิใจในสมบัติของชาติไทยได้ต่อไป “มรดกความทรงจำแห่งโลกต้องสามารถเข้าถึงได้จึงจะเกิดการเรียนรู้ ซึ่งอาจทำเป็นรายการผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นอกจากนี้ยังมีอีกหลายวิธี เช่น เราสามารถเชื่อมโยงมรดกความทรงจำ คือ หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ที่จังหวัดสุโขทัย เข้ากับการเป็นแหล่งมรดกโลกได้ โดยการผสมผสานระหว่างข้อมูลที่เป็นเอกสารกับสถานที่ที่เป็นมรดกโลกนั้น จะทำให้เกิดความรู้ที่ชัดเจนและได้ตระหนักถึงความสำคัญมากขึ้นด้วย” ดร.ซูซานน์ กล่าว

ด้านนางโสมสุดา ลียะวณิช รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะคณะกรรมการมรดกโลก เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ การบริหารจัดการมรดกโลกในประเทศไทย กับคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้สอบถามปัญหาของแหล่งมรดกโลกของไทย 5 แห่ง โดยเฉพาะที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตนจึงรายงานว่า เมื่อปี 2551 ยูเนสโก กรุงเทพฯมีข้อกังวลว่า อุทยานดังกล่าวมีการพัฒนาพื้นที่ไม่เหมาะสมตามที่คณะกรรมการมรดกโลกกำหนดไว้ เช่น มีภูมิทัศน์ที่ไม่สวยงามเหมือนครั้งขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2534 มีการบุกรุกของชุมชน เป็นต้น จึงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า อาจจะถูกถอดจากมรดกโลกได้

รองปลัด วธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับแหล่งมรดกโลกอีก 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ปัญหาในพื้นที่ไม่มากเท่ากับอยุธยา เนื่องจากเมืองแยกออกจากชุมชน พบเพียงปัญหาร้านค้าย่อย และการบริหารอื่นๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว ก็จะลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเริ่มที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นแห่งแรก ประมาณเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นทยอยไปสำรวจแหล่งมรดกโลกที่อื่น เพื่อรายงานให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับทราบและนำเสนอรัฐบาลต่อไป

“เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา แหล่งมรดกโลกเครสเดน ของประเทศเยอรมนี ถูกถอดออกจากมรดกโลก ซึ่งหากเราปล่อยให้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม ก็มีแนวโน้มที่จะถูกขึ้นบัญชีภาวะอันตรายได้ ส่วนขั้นตอนการถอดถอนมรดกโลก เมื่อคณะกรรมการมรดกโลก พิจารณาแล้วว่า ประเทศเจ้าของมรดกโลกปล่อยปละละเลยจนทรุดโทรม มีการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม ก็จะขึ้นบัญชีภาวะอันตราย แล้วให้ปรับปรุง 2 ปี หากปรับปรุงก็ไม่ถอดถอน แต่ถ้าไม่ปรับปรุงอะไรเลย ก็จะถูกถอดถอนออกจากการเป็นมรดกโลก อย่างไรก็ตาม ดิฉันฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศิลปากร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชุมชน ต้องช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครอยากให้แหล่งมรดกโลกของไทยถูกขึ้นบัญชีภาวะอันตราย”นางโสมสุดา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น