xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ รพ.ชายแดนบุกพบ “จุรินทร์” พรุ่งนี้ แก้ติดหนี้มหาศาล ไร้งบรักษาคนไทยไร้สถานะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์รพ.ชายแดน ตบเท้าเข้าพบ “จุรินทร์” วันที่ 1 ก.พ.นี้ ถกแก้ปัญหารพ.ติดหนี้ เหตุรัฐไม่อุดหนุนเงินรักษาพยาบาลคนไทยไร้สถานะ ผอ.รพ.อุ้มผางเผยรพ.ติดหนี้ปีละกว่า 20 ล้านบาท ต้องดึงเงินจาก รพ.ใกล้เคียงมาช่วยเหลือ พ้อติดหนี้บริษัทยาเกือบครบทุกบริษัท ล่าสุดบริษัทยาไม่รับสั่งซื้อยาแล้ว ต้องขอยืมยา-วัคซีนจากรพ.อื่น ชี้เป็นปัญหาความมั่นคงทางสุขภาพ เกิดโรคติดต่อในพื้นที่ “วัณโรค” เริ่มกลับมาเป็นปัญหาแล้ว พบเชื้อดื้อยาสูงถึงร้อยละ 10 ในแรงงานต่างด้าว จ.ตาก ชี้ต้องขยายสิทธิ์หลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุม ด้าน “หมออำพล” ย้ำต้องดูแลเพราะเป็นการสร้างความมั่นคงประเทศ แต่ใช้งบแค่พันกว่าล้าน

วันที่ 31 มกราคม 2553 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมด้วยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “ถามหาความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้คนไทยไร้สถานะ”

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว คนไทยไร้สถานะเหล่านี้ เป็นคนที่ตกหล่นหายไป และไม่ได้รับสิทธิใดๆ ในด้านสิทธิสุขภาพ โรงพยาบาลไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ ไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นใครแพทย์ต้องให้การรักษา ขณะที่ประชาชนกลุ่มนี้เป็นชาวบ้านยากจน ข้อมูลที่พบ คือ ในปี 2552 มีประชากรในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน จ.ตาก จำนวน 6.4 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ไร้หลักประกันสุขภาพ 3 แสนคน หรือ 47.51% ในการใช้บริการสุขภาพข้อมูลในปี 2552 พบว่า มีผู้ป่วยนอก 6.9 แสนครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการใช้บริการของคนไร้รัฐ 1.2 แสนครั้ง ประมาณ 17% แสดงว่าเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ สัดส่วนน้อยมาก เมื่อเข้าไม่ถึงบริการพื้นฐานระดับต้น จะเป็นปัญหาว่าโรคภัยไข้เจ็บเราควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเข้าถึงมาก รพ.ก็แบกรับภาระมาก มันวนเวียน เข้ามามาก เราก็ไม่ไหว ตอนนี้ รพ.ไปไม่ไหวแล้ว 5 รพ.ชายแดน จ.ตาก มีงบค่าใช้จ่ายสังคมสงเคราะห์ด้านนี้ 115.6 ล้านบาท

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวต่อว่า ขณะที่ผู้ป่วยในจำนวนวันนอน 1.9 แสนวัน ในจำนวนนี้เป็นผู้ไม่มีหลักประกันสุขภาพ 33% หรือ 6.6 หมื่นวัน เฉพาะตัวเลขผู้ป่วยในของรพ.อุ้มผางนั้น พบว่ากลุ่มคนไร้หลักประกันสุขภาพมีอัตราการครองเตียงสูงถึง 58 % ซึ่งสูงกว่ามาก ผู้ป่วยใน 10 คน เป็นคนไร้หลักประกันสุขภาพ 6 คน แสดงให้เห็นว่ามีอัตราการครองเตียงสูงขึ้น สะท้อนว่าถ้าไม่เจ็บขั้นรุนแรงยังสามารถรักษาตัวเองได้ เขาไม่มา กระทั่งอาการหนักแล้วจึงมา ขณะที่บริการส่งเสริมป้องกันโรคก็มีปัญหามาก ล่าสุดการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ฉีดเฉพาะคนมีบัตรประชาชน รวมถึงการให้ยาวัณโรคที่ให้เฉพาะคนมีบัตร ซึ่งตอนนี้เป็นปัญหามาก ในพื้นที่อุ้มผางพบตัวเลขผู้ป่วยดื้อยาหลายขนานเพิ่มขึ้นมาก ในการไปตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้วยที่ขึ้นมะเบียนพบว่า 10% ของแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นวัยแรงงาน แต่ปอดไม่ปกติ แล้วแรงงานหลบหนีจะมีอีกเท่าไหร่ การส่งเสริมสุขภาพไม่สามารถเลือกไม่ได้ เราจึงทำไม่ได้ มันคุมไม่ได้ เรื่องของสุขภาพติดต่อถึงกันทุกคน ไม่ได้แยกกันด้วยบัตรประชาชน ไม่เช่นนั้นจะเผชิญกับสภาพปัญหาความมั่นคงด้านสุขภาพ

“ปัจจุบันตอนนี้ โรงพยาบาลอุ้มผางเป็นหนี้กว่า 20-30 ล้านบาทต่อปี ผู้ตรวจราชการต้องดึงเงินจากโรงพยาบาลใน จ.พิษณุโลก ตอนนี้บริษัทยาไม่ยอมส่งยาให้โรงพยาบาลแล้ว เราเปลี่ยนเรื่อยๆ เมื่อติดหนี้บริษัทยานั้นก็เปลี่ยนไป จนครบเกือบทุกบริษัทยาแล้ว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้ จนตอนนี้ถึงทางตันแล้ว โรงพยาบาลเป็นหนี้สะสมมาเรื่อยๆ ทุกครั้งเราใช้วีธีการขอยืมทรัพยากร เช่น ยา วัคซีน จากโรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่กว่า และทำลืมๆ ไป ทุกปีเอาตัวรอดแบบนี้ แต่ปีนี้เป็นปัญหามาก เพราะตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนหายไป รายรับของรพ.แม่สอดก็ลดลง” นพ.วรวิทย์ กล่าว และว่าวันพรุ่งนี้ (1 ก.พ.) ทางกลุ่มแพทย์รพ.ชายแดนจะไปพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ และจะยื่นข้อเสนอ 3 เรื่อง คือ 1.ให้สิทธิหลักประกันสุขภาพประชากรกลุ่มนี้ 2.ตั้งกองทุนควบคุมป้องกันโรค และ 3.ให้เป็นนโยบายเร่งด่วน เพราะเรื่องสุขภาพเป็นปัญหาความมั่นคงของชาติเช่นกัน

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช.กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวเป็น 1ใน 14 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ ครม.รับทราบ มีความคืบหน้ายอมรับเป็นนโยบายสาธารณะ หากหน่วยงานเกี่ยวข้องไม่ขยับ เราคงต้องมาช่วยกันคิดกันทำ ซึ่งปัญหาคนไทยรัฐสถานะ กลุ่มแรกประมาณ 500,000 คน รัฐบาลไม่น่าทำอะไรยากในการจัดสรรงบประมาณให้ คนละ 2,000 กว่าบาท แค่เพิ่มอีกปีละพันล้าน ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างๆ ให้บริการอยู่แล้วทุกวัน แต่รัฐบาลควรจัดสรรงบให้

ส่วนที่ตีเป็นประเด็นความมั่นคงนั้น หากเราให้คนทุกคนที่อยู่ในเมืองไทยมีความมั่นคงด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล มีคุณภาพชีวิตที่ดี จะทำให้เกิดความมั่นคงมากกว่า เช่นเดียวกับโรคติดต่อ หากเราไม่ดูแลป้องกันในกลุ่มนี้ด้วย จะส่งผลต่อคนไทยแน่นอน ดังนั้นควรมองความมั่นคงในมิติใหม่ โดยใช้งบประมาณที่น้อยมาก

“ฝากไปยัง รมว.สธ.คนใหม่ และรัฐบาล เพราะเจตนารมณ์ทางการเมืองสำคัญ และต้องพูดกันด้วยหัวใจ และทุกอย่างจะแก้ไขปัญหาได้ การให้สิทธิ์นี้เป็นการแก้ไขปัญหาความมั่นคง และเพิ่มความมั่งคงของประเทศ” เลขาธิการ สช.กล่าว


นายโอภาส เจริญพจน์ ประธานเครือข่ายผู้ด้อยโอกาสในชุมชนเมือง กล่าวว่า ในเขตชุมชนเมืองใน กทม.เอง ก็มีคนไทยไทยไร้สถานะอยู่ ส่วนใหญ่เป็นคนอีสานที่เข้ามาทำงาน และไม่มีบัตรประชาชน เมื่อไปยื่นเรื่อง บางสำนักงานเขตให้ตรวจดีเด็นเอ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายแพงมาก รายละ 6,500 บาท ไปตรวจแล้ว ไม่มีเงินไปรับผล ปัญหาคนไทยไร้สถานะยังมีอีกเยอะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของความมั่นคง วันนี้เลิกพูดเรื่องความมั่นคงได้แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้เป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นคนที่ถูกสวมสิทธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น