xs
xsm
sm
md
lg

ชี้"แดง"ใช้4เงื่อนไขป่วน เตือนระวัง10วันอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า จากการหารือของคณะทำงานปฏิบัติการทางการเมือง(วอร์รูม) พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อประเมินความเสี่ยงของสถานการณ์บ้านเมือง พบว่าขณะนี้มีความเสี่ยงสำคัญ 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมือง ซึ่งการปรับครม.ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำ มั่นใจว่ารัฐมนตรีทั้ง 5 คนจะมีส่วนสำคัญในการร่วมทีมกับนายกรัฐมนตรีในการเดินหน้า แก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ และตระหนังถึงผลสำรวจของหลายสำนัก ได้แสดงความมั่นใจใจการตัดสินใจปรับครม. ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้งการตอบรับของภาคเอกชน ต่อทีมเศรษฐกิจ ที่เพิ่มขึ้นมาในคณะรัฐมนตรี มาจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้โอกาสรัฐบาลได้ทำงานต่อไป
ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลสามารถสร้างความเชื่อมั่นทั้งจากนโยบาย และจากการวางบรรทัดฐานทั้ง 9 ข้อของรัฐบาล ในความรับผิดชอบที่คณะรัฐมนตรีทุกคนพึงมีต่อประชาชน
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่าในเรื่องความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจนั้น ถือว่า 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่ารัฐบาลสามารถบริหารจนก้าวพ้นความเสี่ยงได้ ส่วนความเสี่ยงด้านความมั่นคง แบ่งออกเป็น 2 เรื่อง คือ ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การลงพื้นที่ของนายกฯ จะสามารถทำให้กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภานั้นจะมีผลต่อการปรับกระบวนการแก้ไขปัญหา
ส่วนปัญหาความมั่นคงในเรื่องของชายแดนไทย กัมพูชานั้น รัฐบาลได้ยึดแนวทางในการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า แต่ก็ยอมรับว่ามีผลต่อการเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะเพิ่มสถานการณ์ความตึงเครียด ตามแนวชายแดน
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความเสี่ยงทางการเมืองว่า คณะทำงานฯได้ประเมินสถานการณ์ว่า ขณะนี้มีการเตรียมการดำเนินการเพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยการขยายผล และสร้างความขัดแย้งใน 4 ด้านด้วยกัน คือ
1. การกดดัน และคุกคามการทำงานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรอิสระ การบิดเบือนกระบวนยุติธรรมของศาลว่าเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน โดยเฉพาะกรณียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท กับคดีเงินบริจาคของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคจึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับคำตัดสินขององค์กรอิสระ และของศาลในทุกกรณี ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรขอให้ถือคำวินิจฉัยเป็นที่สิ้นสุด
2. กรณีการล่วงละเมิดถวายฎีกาการขอพระราชทานอภัยโทษของกลุ่มนปช. โดยไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลในคดีที่ดินรัชดา และพุ่งเป้าไปที่กระทรวงยุติธรรม และสำนักราชเลขาฯ ในเดือนหน้า
3. การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา และการชุมนุมนอกสภาของกลุ่มนปช.โดยจะขยายผลพาดพิงถึงสถาบันองคมนตรี ที่พรรคเพื่อไทยร่วมขับเคลื่อนกับกลุ่ม นปช. พรรคห่วงว่าจะมีการปลุกระดมนอกสภา ให้เกิดความเกลียดชัง และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันองคมนตรี ทหาร และรัฐบาล ด้วยข้อมูลบิดเบือน
4 . การเคลื่อนไหวนอกประเทศของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ได้เตรียมการจะใช้ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นฐานบัญชาการ เช่นเดียวกับเดือนเม.ย.ปีกลาย เพื่อแทรกแซงการเมืองภายในประเทศ และยกระดับการก่อการ โดยอาศัยเครือข่ายที่เป็นอดีตคนที่เคยทำงานอยู่ในฝ่ายความมั่นคง ที่เคยสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาก่อน เช่น การเผาโรงพักนางเลิ้ง ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นต้น
"สิ่งต่างๆเหล่านี้ พรรคมองว่ารัฐบาลจำเป็นที่จะต้องรับมือ และทางพรรคในฐานะแกนนำก็พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงหากเป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการในลักษณะที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ขัดต่อกฎหมาย ปราศจากความชอบธรรม และดำเนินการเพื่อบุคคลเพียงคนเดียวนั้น พรรคเห็นว่าเป็นการสร้างชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นในบ้านเมือง โดยเฉพาะมีการขับเคลื่อนโดยอาศัยการอ้างของเรื่องปฏิวัติประชาชน ทั้งที่การเคลื่อนไหวเป็นไปเพื่อบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้น เป็นสิ่งที่บ้านเมืองต้องเผชิญใน 1 ปีที่จะถึงนี้" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

**ระวังช่วง 10 วันอันตราย
นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่นัดชุมนุมใหญ่หลังตรุษจีน โดยระบุจะล้มล้างรัฐบาล และกลุ่มอำมาตย์ว่า เชื่อว่าหลังวันที่ 16 ก.พ. จะมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 26 ก.พ. ซึ่งอยู่ในช่วงที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางหารเมืองจะตัดสินในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทของพ.ต.ท.ทักษิณ
ดังนั้นในช่วง 10 วัน ถือเป็น 10 วันอันตราย ที่ต้องจับตามอง จึงอยากให้กลุ่มคนเสื้อแดง ฟังเสียงของประชาชนและสังคมว่าอย่างไร เพราะผลโพลระบุว่า อยากให้รัฐบาลนี้อยู่บริหารต่อไป ไม่อยากให้คนเสื้อแดงเคลื่อนไหวสวนกระแสความรู้สึกของประชาชน สัปดาห์ที่ผ่านมา ตนลงพื้นที่ในภาคอีสานตอนบน พบปะคนเสื้อแดงหลายพื้นที่ ต่างก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้แกนนำเคลื่อนไหวในลักษณะแตกหัก เพราะมีแกนนำพวกฮาร์ตคอร์ และระดับบนที่กำหนดเอามวลชนระดับล่างเข้ามาร่วม จึงเชื่อว่า หากยังเคลื่อนไหวสวนกระแสสังคม ก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ

** เย้ยศึกซักฟอกแค่กระทู้สด
นายเทพไท กล่าวถึง การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า จากการดูท่าทีของพรรคเพื่อไทย ค่อนข้างสับสน เพราะวันนี้ยังไม่มีการประชุมสรุปเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าจะยื่นหรือไม่ เมื่อไร โดยมีการกำหนดว่า วันที่ 21 ม.ค. จะมีการหารือเรื่องนี้ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการแสดงออกถึงความไม่พร้อม และมีการบอกว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นในลักษณะเหมือนกระทู้ถามสด เพราะเป็นข้อมูลของพรรคเพื่อไทยไม่มีการทำการบ้าน และลึกเพียงพอ ที่น่าแปลกใจคือ การที่กำหนดว่าใครจะขึ้นอภิปรายต้องเดินทางไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กัมพูชา จึงไม่เข้าใจว่า คนอบย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ มีข้อมูลอะไรดี เพราะหนีออกนอกประเทศไปหลายปีแล้ว แต่หากไปพบเพื่อรับกำลังบางอย่าง ก็ชี้ชัดว่าสภาพของพรรคเพื่อไทย เป็นแค่หุ่นยนต์จริงๆ ที่ทุกอย่างต้องถูกกำหนดจาก พ.ต.ท.ทักษิณทั้งสิ้น จึงไม่อยากให้คนของพรรคเพื่อ ไทย ออกมาพาดพิงวิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์แบบยุแยงตะแคงรั่ว โดยเฉพาะที่ระบุว่าได้ข้อมูลจากคนในพรรคประชาธิปัตย์นั้น ก็เป็นแค่ลูกไม้ตื้นๆ ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีคนคิดคดทรยศต่อพรรคตัวเอง

**เสื้อแดงอ้างป่วนเพื่อประชาธิปไตย

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหากแก่รัฐ (คตส.) ออกมาระบุว่า ต้องยึดทรัพย์ทั้งหมดกว่า 7.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นการแสดงความเห็นในลักษณะของการพูดชี้นำศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล อีกทั้งนายอุดม ถือเป็นปฏิปักษ์ และมีอคติกับพ.ต.ท.ทักษิณ มาตั้งแต่แรก แต่ยังได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ คตส. หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ฉะนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า นายอุดม ใช้ความรู้สึกและอคติส่วนตัวในการพิจารณาคดีมาโดยตลอด
ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาพูดถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยระบุว่า ต้องการกดดันการพิจารณาคดีการยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการพูดที่เชื่อมโยงกับประเด็นการทำลายขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม เป็นการดูถูกประชาชน ไม่เป็นสุภาพบุรุษทางการเมือง คนเสื้อแดงชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 49 ผู้ชุมนุมได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน ที่ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย และล้มล้างระบอบอำมาตยาธิปไตย จึงขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เลิกเป็นเด็กเลี้ยงแกะ และยอมรับความจริงว่ามูลเหตุของความขัดแย้งมาจากระบอบอำมาตย์ ที่นายอภิสิทธิ์แอบอิง และได้รับประโยชน์จนได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ นายอภิสิทธิ์ อย่าพูดเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่ผู้ชุมนุม การพูดลักษณะดังกล่าว ยิ่งก่อให้เกิดการท้าทายกับประชาชนผู้ชุมนุม และจะก่อให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น