xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เดินหน้าให้วัคซีนหวัด 2009 ยกเว้นสตูลจังหวัดเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. เดินหน้าโครงการฉีดวัคซีนหวัด 2009 ทั่วประเทศ ยกเว้น จ.สตูลจังหวัดเดียว แจงสำนักควบคุมโรคทุกจังหวัดทำความเข้าใจการใช้วัคซีน ย้ำกระบวนการผลิตเชื่อถือได้ แม้เป็นสายพันธ์ใหม่ ขณะที่อาการหญิงพัทลุงไม่ได้เกิดจากวัคซีนแต่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง แต่อาการดีขึ้นแพทย์ให้กลับบ้านได้ ด้าน “หมอวิชัย” ชี้หญิงตั้งครรภ์แท้งส่งผลอาสาสมัครทดลองวัคซีนเชื้อเป็นระยะที่ 2 ถอนตัว ด้านผู้เชี่ยวชาญเลื่อนประชุมสัปดาห์หน้า

วันที่ 29 มกราคม นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมทางไกลกับ สำนักงานควบคุมโรค (สคร.) จังหวัดต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจในแนวทางการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สายพันธ์ใหม่ 2009 ว่า ได้แจ้งให้ สคร.ทุกจังหวัดรับทราบแนวทางการปฏิบัติ และเปิดโอกาสให้ซักถามเพื่อทำความเข้าใจ ซึ่งเป็นการชี้แจงตามปกติ โดยยืนยันว่า ขณะนี้จังหวัดต่างๆทั่วประเทศยังให้บริการฉีดวัคซีนแก่หญิงตั้งครรภ์ตามปกติ โดยระงับการฉีดในพื้นที่ จ.สตูล ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจหาสาเหตุกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะแท้งหลังได้รับวัคซีนเท่านั้น ส่วนการให้วัคซีนทั่วประเทศยังไม่มีเหตุสมควรที่จะหยุดโครงการ เพราะกรณีที่เกิดขึ้นอาจมาจากสาเหตุอื่นไม่ใช่วัคซีน

นพ.ศุภมิตร กล่าวว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นมีกระบวนการผลิตและฉีดมานานหลายสิบปี แม้ว่าจะเป็นไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ แต่เทคโนโลยีในการผลิตใช้แบบเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง จึงสามารถมั่นใจในความปลอดภัยได้ โดยมีการรายงานและเก็บข้อมูลจากประเทศที่ฉีดอย่างสม่ำเสมอ และองค์การอนามัยโลก(WHO) เป็นผู้ตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย ในภาพรวมจนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานความผิดปกติที่รุนแรงหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งความผิดปกติหรือโรคแทรกซ้อน ที่เกิดขึ้นยังอยู่ในระดับที่ไม่ผิดปกติ เพราะกลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง หรือ หญิงตั้งครรภ์ ก็จะพบอัตราการป่วยได้อยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ

อาการแพ้วัคซีน หรือผลข้างเคียงสามารถเกิดขึ้นได้หลายระดับ ระดับไม่รุนแรง เช่น ผื่นแพ้ คัน บวม แดง แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คือ กลุ่มที่ฉีดแล้วมีอาการรุนแรง เช่น ชัก หมดสติ ถือเป็นอาการที่น่าเป็นห่วง แต่โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายหลังอย่างที่เคยมีรายงาน เช่น ปากเบี้ยว เมื่อมีการพิสูจน์อย่างละเอียดก็พบว่าไม่ได้เกิดจากการฉีดวัคซีนแต่เกิดจากโรคประจำตัว”นพ.ศุภมิตร กล่าว

นพ.ศุภมิตร กล่าวด้วยว่า กรณีหญิงตั้งครรภ์ จากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ในปี 2552 พบว่า ความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนกลุ่มอื่น และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นเมื่อมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเป็นกลุ่มอันตราย จึงจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้หญิงตั้งครรภ์ เกิดโอกาสเสี่ยงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ก็มีการให้บริการมาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาจะมีการพิสูจน์อย่างละเอียด

นพ.ศุภมิตร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากเดิมที่จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข จะหารือเพื่อวางแนวทางในการให้คำแนะนำกับผู้เข้ารับวัคซีน ในวันนี้ (29 ม.ค.) จะเลื่อนเป็นวันที่ 2 ก.พ.นี้ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้าร่วมประชุมสามารถเข้าประชุมได้น้อยเกินไปจนไม่ครบองค์ประชุม

ด้าน นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าถึงความคืบหน้ากรณีหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือน 1 สัปดาห์ที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 จังหวัดสตูล ทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตว่า หลังจากแพทย์ได้ให้ยาเร่งคลอด ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่นุ่มนวล ขณะนี้หญิงรายดังกล่าวเริ่มมีอาการปวดท้องและได้นำตัวเข้าห้องคลอดแล้ว คาดว่าจะคลอดในช่วงบ่ายวันนี้ (29 ม.ค.) และจะนำศพทารกดังกล่าว ส่งให้สถาบันนิติเวช รพ.สงขลานครินทร์ ตรวจชันสูตร และรายงานผลกลับมายังผู้เชี่ยวชาญให้ตรวจวิเคราะห์ว่าการเสียชีวิตของทารกในครรภ์เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่

ส่วนอาการของหญิงตั้งครรภ์ที่จังหวัดพัทลุง นั้น จากการตรวจสอบอย่างละเอียด ไม่พบความปกติในครรภ์และทารกในครรภ์ยังสมบูรณ์ ส่วนอาการป่วยของหญิงตั้งครรภ์ เชื่อว่ามาจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) หรือโรคพุ่มพวง จึงไม่ถือว่าอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งในบ่ายวันนี้(29 ม.ค.) แพทย์ได้ให้หญิงคนดังกล่าวเดินทางกลับบ้านแล้ว”นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงการทดลองวัคซีนเชื้อเป็นในอาสาสมัคร ซึ่งทำการฉีดพ่นวัคซีนในอาสาสมัครครบแล้ว 2 ครั้ง ว่า ภายหลังจากที่มีกระแสข่าวว่าวัคซีนเชื้อตายที่ สธ.ให้บริการกับประชาชนเริ่มมีผลข้างเคียงและอยู่ระหว่างรอการพิสูจน์อยู่นั้น เชื่อว่าอาจทำให้กระทบต่อการทดลองวัคซีนเชื้อเป็นในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 400 คน ที่อาสาสมัครอาจจะถอนตัวออกจากการทดลองบ้าง เนื่องจากเกิดความไม่เชื่อมั่น แต่ไม่ถือว่าน่าเป็นห่วงเพราะตามปกติในการทดลองต่างๆ ก็จะมีอาสาสมัครถอนตัวออกบ้าง อยู่แล้วอย่างไรก็ตาม อภ.ไม่ได้นิ่งนอนใจและจะแจ้งข้อมูลให้อาสาสมัคร รวมทั้งประชาชนทั่วไปให้ทราบว่า วัคซีนชนิดนี้ไม่ได้เกิดผลกระทบร้ายแรงใดๆ ยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ไม่ต้องกังวล เพราะมีระบบเฝ้าระวังอยู่แล้ว

“ปกติการแท้งลูกจะเกิดประมาณร้อยละ 10 ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากความไม่สมประกอบของเด็กที่เกิดมา ส่วนกรณีที่ตั้งครรภ์ครบ 10 เดือน ย่อมมีโอกาสแท้ง โดยอาจพบประมาณ 7-8 รายจาก 1,000 ราย ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องรับวัคซีนก็มีโอกาสเกิดขึ้น” นพ.วิชัยกล่าว

นพ.วิชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนการทดลองฉีดวัคซีนครบ 42 วันแล้ว เบื้องต้นไม่พบปัญหาใดๆ และคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะทราบว่า วัคซีนสามารถช่วยกระตุ้นคุ้มคุ้มกันไม่มากน้อยเพียงใด จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการดูแลข้อมูลและความปลอดภัย ซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสระ ในการพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการในระยะที่ 2 ต่อหรือไม่ โดยคาดว่าไม่น่ามีปัญหาใดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น