xs
xsm
sm
md
lg

เร่งส่งร่างทารกพิสูจน์วัคซีนหวัด2009ทำดับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ถึงความคืบหน้ากรณีหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือน 1 สัปดาห์ที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 จังหวัดสตูล ทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตว่า หลังจากแพทย์ได้ให้ยาเร่งคลอด ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่นุ่มนวล และจะนำศพทารกดังกล่าว ส่งให้สถาบันนิติเวช รพ.สงขลานครินทร์ ตรวจชันสูตร และรายงานผลกลับมายังผู้เชี่ยวชาญให้ตรวจวิเคราะห์ว่าการเสียชีวิตของทารกในครรภ์เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่
ส่วนอาการของหญิงตั้งครรภ์ที่ จ.พัทลุงนั้น จากการตรวจสอบอย่างละเอียด ไม่พบความปกติในครรภ์และทารกในครรภ์ยังสมบูรณ์ ส่วนอาการป่วยของหญิงตั้งครรภ์ เชื่อว่ามาจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) หรือโรคพุ่มพวง จึงไม่ถือว่า อาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งในบ่ายวานนี้(29 ม.ค.) แพทย์ได้ให้หญิงคนดังกล่าวเดินทางกลับบ้านแล้ว
นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวภายหลังการประชุมทางไกลกับสำนักงานควบคุมโรค(สคร.) จังหวัดต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจ ในแนวทางการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สายพันธ์ใหม่ 2009 ว่า ได้แจ้งให้ สคร.ทุกจังหวัดรับทราบแนวทางการปฏิบัติในการฉีดวัคซีนหวัด 2009 ยืนยันว่า ขณะนี้จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศยังให้บริการฉีดวัคซีนแก่หญิงตั้งครรภ์ตามปกติ โดยระงับการฉีดในพื้นที่ จ.สตูล ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจหาสาเหตุกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะแท้งหลังได้รับวัคซีนเท่านั้น ส่วนการให้วัคซีนทั่วประเทศยังไม่มีเหตุสมควรที่จะหยุดโครงการ เพราะกรณีที่เกิดขึ้นอาจมาจากสาเหตุอื่นไม่ใช่วัคซีน
นพ.ศุภมิตร กล่าวด้วยว่า กรณีหญิงตั้งครรภ์ จากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ในปี 2552 พบว่า ความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนกลุ่มอื่น และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น เมื่อมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเป็นกลุ่มอันตราย จึงจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้หญิงตั้งครรภ์ เกิดโอกาสเสี่ยงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ก็มีการให้บริการมาโดยตลอด เมื่อเกิดปัญหาจะมีการพิสูจน์อย่างละเอียด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ โฆษกกรมควบคุมโรค สธ.กล่าวว่า ผลการฉีด 5 กลุ่มเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 11- ม.ค. 2553 มีผู้รับบริการฉีดแล้ว 83,165 ราย ได้รับรายงานอาการหลังฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 52 ราย ที่ต้องสอบสวน 7 ราย เป็นบุคลากรสาธารณสุข 2 ราย ที่ จ.กาฬสินธุ์และอุดรธานี เป็นหญิงตั้งครรภ์ 5 ราย อยู่ใน กทม. 1 ราย มหาสารคาม 1 ราย พัทลุง 1 ราย สตูล 2 ราย ในจำนวนนี้คณะผู้เชี่ยวชาญสามารถสรุปได้แล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน 1 ราย คือบุคลากรสาธารณสุขที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังคงเหลืออีก 6 ราย อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของผู้เชี่ยวชาญ
กำลังโหลดความคิดเห็น