xs
xsm
sm
md
lg

มศว จวกแพทยสภาซุ่มอนุมัติ หลักสูตรนานาชาติเอื้อคนรวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
แพทยสภาอนุมัติหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติเบื้องต้นเงียบเฉียบ รอรับรองมติย้ำชัด ก.พ.นี้ อัดเอื้อรพ.เอกชน จี้ “จุรินทร์” ทบทวน เหตุไทยขาดแคลนแพทย์ขั้นวิกฤติ แต่จะผลิตหมอหลักสูตรนานาชาติ หวั่นประโยชน์ทับซ้อน หลังไทยชูนโยบายเมดิคัลฮับ ฝรั่งแห่รักษา โรงพยาบาลเอกชน

วันนี้ (27 ม.ค.) กลุ่มคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประกอบด้วย ผศ.นพ. วิชิต ลีละศิธร ,ผศ.พญ.สมัญญา ทิศาวิภาต ,ผศ.นพ. ชัยพฤกษ์ กุสุมาพรรณโญ ,ผศ.นพ. โอฬาร พรหมาลิขิต ,นพ. สุธีร์ รัตนะมงคลกุล และ รศ.ดร. ลัดดาวัลย์ ผิวทองงาม ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “บทบาทแพทยสภากับการผลิตบัณฑิตแพทย์เพื่อคนไทย "คัดค้านการเร่งรัดอนุมัติหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ ซึ่งเสนอโดย ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุลคณบดีแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งแพยสภาได้มีมติอนุมัติหลังสูตรดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2553 ที่ผ่านมา และจะมีการรับรองมติในช่วงต้นเดือนก.พ.นี้

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า การอนุมัติหลักสูตรของแพทยสภาเป็นการกระทำที่ไม่สนองตอบต่อการขาดแคลนแพทย์ของประเทศไทย แม้ว่าการอนุมัติจะมีมติให้มีการชดใช้ทุนก็ตาม แต่การชดใช้ทุนเป็นเพียงการตอบโจทย์เรื่องการชดใช้ทรัพยากรของรัฐและผู้ป่วยในการเรียนแพทย์แต่ไม่ได้ช่วยสนับสนุนให้แพทย์อยู่ในระบบที่ชาวบ้านทั่วไปเข้าถึง แต่กลับจะหลั่งไหลเข้าไปในระบบเอกชนที่ชาวต่างชาตินิยมเดินทางมารับบริการการรักษาในประเทศไทย เพราะคงยากที่ผู้จ่ายเงินหลักล้านและเรียนเป็นภาษาอังกฤษต้องการจะทำงานในชนบทที่ขาดแคลนแพทย์ การอนุมัติหลักสูตรดังกล่าวอาจเป็นการอนุมัติหที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อต่อโรงพยาบาลเอกชน หรือเอื้อต่อโรงเรียนแพทย์ที่ต้องการเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติแห่งต่อไป จึงขอเรียกร้องให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.สาธารณสุข และ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนั่งเป็นกรรมการในแพทยสภาได้ทบทวนเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การบริการทางการแพทย์เองยังมีปัญหาอยู่ ทั้งเรื่องความเสมอภาคในการให้บริการ ความซับซ้อนในการจ่ายเงินระบบประกันภัย คนต่างชาติมารับการรักษาในประเทศไทยมากขึ้น โรงพยาบาลเอกชนไม่เอื้ออำนวยกับระบบประกันสุขภาพ และเป็นห่วงคุณภาพของแพทย์การเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติ ควรประเมินผลกระทบอย่างเร่งด่วน

“การพิจารณาอนุมัติหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ ควรจะมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากหลักสูตรนี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องเชิงนโยบายการกระจายแพทย์ยังมีปัญหา ไม่ใช่ดูเฉพาะเนื้อหาของหลักสูตร ซึ่งคาดว่าจะยังมีมหาวิทยาลัยแพทย์อีกหลายแห่งเตรียมที่จะออกหลักสูตรแพทย์นานาชาติตามมาด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากจะอนุมัติเป็นหลักสูตรแรกควรจะทำให้เป็นบรรทัดฐานที่ชัดเจน โดยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ชนบท เข้าร่วมในการจัดทำด้วย” น.ส.สารี กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น