xs
xsm
sm
md
lg

“ศ.แอน มิลส์” เจ้าของรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ชมระบบประกันสุขภาพไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ศ.แอน มิลส์” เจ้าของรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ชมระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย เป็นตัวอย่างประยุกต์ใช้เศรษฐศาสตร์ สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพคนไทยได้ให้บริการคลอบคลุม-ลงทุนคุ้มค่า หวังอนาคตไทยลดความเหลื่อมล้ำ 3 ระบบสุขภาพได้สำเร็จ ขณะที่ “หมอวิวัฒน์-มีชัย” กระตุ้นป้องกันโรคเอดกลับมาคุกคาม

เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 26 มกราคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีต้อนรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 ได้แก่ ศ.แอน มิลส์ ศาสสตร์จารย์ด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ภาควิชาสาธารณสุขและนโยบาย London School of Hygiene and Tropical Medicine มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้รับรางวัลสาขาการแพทย์ โดยการนำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการคลังสุขภาพมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพของโลก และผู้ได้รับรางวัลสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร จากประเทศไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศมองโกเลีย จากผลงานโครงการถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้แพร่หลายทั้งประเทศไทยและต่างชาติ และนายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนประเทศไทย จากผลงานการรณรงค์ให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัย และยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิธีการสื่อสารเรื่องโรคเอดส์ในระดับชาติ ทั้งนี้ ถือเป็นประเพณีปฏิบัติก่อนจะเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 ในวันที่ 27 มกราคม เวลา 17.30 น. ที่พระนั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

ศ.แอน มิลส์ กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจและไม่คาดฝันว่าจะได้รับรางวัล ถือว่ารางวัลนี้มีวิสัยทัศน์ในการมองเห็นความสำคัญของการเชื่อมต่อระหว่างการลงทุนด้านสุขภาพและผลลัพธ์ที่ได้ทั้งในแง่สังคมและเศรษฐกิจ เพราะเมื่อคนสุขภาพดีย่อมส่งผลดีต่อการทำงานและการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาผลงานที่ได้รับการยอมรับด้านการศึกษาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขกับปัญหาโรคมาลาเรีย โดยได้คำนวณความคุ้มค่าของการลงทุนในการให้วัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย

“เศรษฐศาสตร์ไม่ได้ตีความหมายเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียวแต่มีประโยชน์ทางสังคมด้วย หากนำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์มาใช้กับนโยบายจะช่วยให้การตัดสินใจถูกต้องแม่นยำมากขึ้นเนื่องจากมีหลักฐานข้อมูลที่แน่ชัด ว่าการลงทุนด้านสุขภาพมีความคุ้มค่ามากน้อยอย่างไรหรือเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ในประเทศไทย คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีการประยุกต์ใช้หลักเศรษฐศาสตร์ มีการจำกัดวงเงินค่ารักษาพยาบาลต่อหัวประชากร ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีและคลอบคุลมการรักษาพยาบาลประชาชนในประเทศ ซึ่งไทยเป็นตัวอย่างที่สำคัญในเรื่องนี้”ศ.แอน มิลส์กล่าว

ศ.แอน มิลส์ กล่าวอีกว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ถือเป็นความท้าทายของประเทศไทย ที่จะทำยังไงให้หลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ที่มีความเหลื่อมล้ำเข้าใกล้กันมากที่สุด ทั้งระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ทุกคนได้รับความเท่าเทียมในเรื่องการรักษาพยาบาลมากขึ้น ส่วนกรณียามีราคาแพงนั้น เสนอให้กำหนดราคายาที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศตามระดับเศรษฐกิจ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีกำลังสามารถที่จ่ายได้ก็ควรจ่ายในราคาสูง ส่วนประเทศที่ยากจนก็ควรจ่ายในราคาถูก กว่า

ศ.แอน มิลล์ กล่าวด้วยว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานานาชาติให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านสุขภาพมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญของการให้หลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนนั้น รัฐบาลต้องแบ่งสัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างการป้องกันและการรักษา ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามข้อพึงระวังสำหรับการลงทุนด้านสุขภาพ มี 2 ประเด็น คือ 1.เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องแน่ใจว่ายังมีการลงทุนด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม และต้องมั่นใจว่าจะไม่มีการตัดเงินส่วนนี้ และ 2.เมื่อลงทุนแล้วต้องมีการประเมินผลลัพธ์ว่าได้ประสิทธิภาพตามที่ต้องการหรือไม่

ด้านนายมีชัย กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องเอดส์แทบจะหายไป แต่ล่าสุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอีกครั้ง โดยมีงบประมาณรณรงค์นี้ประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเรื่องดีและคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหานี้ อย่างไรก็ตามการมุ่งเน้นการรักษาพยาบาลอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องรณรงค์ให้ความรู้ควบคู่ด้วย ซึ่งการรักษาผู้ป่วยเอดส์ 1 ราย จะมีผู้มีป่วยเป็นเอดส์เพิ่มมากขึ้น 6 ราย หากไม่มีการป้องกัน

“ขณะนี้มีโครงการรณรงค์ในสภานักเรียนกว่า 3 หมื่นแห่ง โดยเริ่มจากการสร้างความเข้าใจที่รอบด้าน อย่างเรื่องเซ็กส์ไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่เป็นเรื่องของกาลเทศะ ถ้ามีอย่างถูกต้องก็เป็นสุข แต่ถ้ามีอย่างผิดๆ ก็เป็นทุกข์ รวมถึงการสอนให้รู้จักถุงยางอนามัยคืออะไร ไม่ใช่การชี้โพรงให้กระรอก แต่ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะให้เด็กพกถุงยางไปโรงเรียนโดยไม่มีความรู้ก็แสดงว่าคนเราโง่มาก ที่สำคัญอยากฝากพ่อแม่ว่า อยากให้ลูกติดเชื้อเอดส์หรืออยากให้ลูกใส่ถุงยาง เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจให้ได้ก่อน” นายมีชัย กล่าว

ด้าน นายวิวัฒน์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อจากอดีตถึงปัจจุบัน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไป โดยจากเดิมจะเป็นกลุ่มหญิงบริการเพศพาณิชย์ และลูกค้า ซึ่งนำไปติดต่อยังแม่บ้านและแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก แต่ล่าสุดพบในกลุ่มชายรักชาย โดยแบ่งย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มชายบริการทางเพศ กลุ่มมั่วกัน และกลุ่มมีเพศสัมพันธ์แบบยั้งยืน ทั้งหมดยังจำเป็นต้องรณรงค์เพราะอันตรายจากโรคเอดส์อย่างรอบด้าน จะจำเพาะเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องรู้ว่ากลุ่มเสี่ยงอยู่ที่ไหนบ้างและพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนั้น โดยใช้มาตรการที่เหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น