สธ.เผยสถานการณ์โรคเอดส์ของไทยในรอบ 24 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2527-2551 มีผู้ป่วยโรคเอดส์สะสม 337,989 ราย ในจำนวนนี้เป็นข้าราชการ 10,278 ราย ส่วนใหญ่อายุ 30-44 ปี กทม.-เชียงใหม่ มีผู้ป่วยมากสุด สาเหตุหลักติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ ส่วนผลการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวีใน 8 กลุ่มเสี่ยง ล่าสุดในกลางปี 2550 พบกลุ่มชาย-หญิงขายบริการทางเพศ กลุ่มชายที่ตรวจกามโรคมีอัตราติดเชื้อสูงขึ้น
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคเอดส์ของไทย ว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2527 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2551 รวม 24 ปี สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดว่ามีผู้ติดเชื้อประมาณ 1 ล้าน 2 แสนราย มีผู้ป่วยโรคเอดส์สะสมทั้งหมด 337,989 ราย เป็นชายมากกว่าหญิงในอัตราส่วน 2 ต่อ 1 เสียชีวิตแล้ว 92,111 ราย หรือประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมด
นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเอดส์มีทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะข้าราชการซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีการศึกษา มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จากการวิเคราะห์พบว่าตั้งแต่ พ.ศ.2527 เป็นต้นมาจนถึง 30 กันยายน 2551 มีข้าราชการป่วยจากโรคเอดส์สะสมทั้งหมด 10,278 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ของผู้ป่วยโรคเอดส์ทั้งหมด เป็นชาย 9,043 ราย หญิง 1,235 ราย เพศชายป่วยสูงกว่าเพศหญิงในอัตราส่วน 7 ต่อ 1 เสียชีวิตไปแล้ว 2,448 ราย โดยผู้ป่วย 1 ใน 3 เป็นกลุ่มข้าราชการพลเรือน อีกประมาณ 1 ใน 10 เป็นทหาร ตำรวจ
สาเหตุใหญ่ของการติดเชื้อเอดส์ เกือบร้อยละ 90 เกิดมาจากการมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ย่อมมีผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก เนื่องจากโรคเอดส์เป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลค่อนข้างสูง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันป้องกันดูแล โดยการแก้ไขปัญหาเอดส์ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเน้นการป้องกัน ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ได้ผลดีที่สุดขณะนี้และเป็นนโยบายหลักก็คือ ถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ทุกชนิด และป้องกันการตั้งครรภ์ได้
นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า ข้าราชการที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ ร้อยละ 63.8 อายุระหว่าง 30-44 ปี มากที่สุดคือ อายุ 30-34 ปี พบร้อยละ 24 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ร้อยละ 61 แต่งงานแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นข้าราชการรายแรกเมื่อ พ.ศ. 2530 มีรายงานป่วยสูงสุด 940 ราย ในปี 2539 หลังจากนั้นเริ่มลดลงอย่างช้าๆ ในปี 2551 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน มีรายงานผู้ป่วย 303 ราย
จังหวัดที่มีข้าราชการป่วยเป็นโรคเอดส์สะสมสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 1,622 ราย ส่วนต่างจังหวัดพบมากที่สุด 5 จังหวัดแรกคือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา นนทบุรี และชลบุรี โดยโรคฉวยโอกาสที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคเอดส์ที่พบมากที่สุดทุกกลุ่ม คือ วัณโรคปอด พบ 1 ใน 5 ของผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งป้องกันโดยในปี 2552 นี้ จะเน้นการตรวจหาเชื้อวัณโรคและรักษาควบคู่กับยาต้านไวรัสเอดส์ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคเอดส์มีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำงานได้เหมือนคนปกติทั่วไป
ด้านแพทย์หญิงพัชรา ศิริวงศ์รังสรร ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวว่า สำนักโรคเอดส์ฯ ได้เฝ้าระวังสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในประชาชนกลุ่มต่างๆ ทุกปี เพื่อประเมินผลการรณรงค์ป้องกัน โดยผลการเฝ้าระวังในปี 2550 ใน 8 กลุ่ม ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ปรากฏผลดังนี้
1.กลุ่มหญิงขายบริการทางเพศ พบหญิงขายบริการทางเพศตรง ติดเชื้อร้อยละ 5.57 จังหวัดที่มีความชุกติดเชื้อสูงสุดได้แก่ ลำปาง ร้อยละ 28.75 รองลงมาคือ สุโขทัย ร้อยละ 24 และสมุทรสงคราม ร้อยละ 18.32 ส่วนกลุ่มหญิงขายบริการทางเพศแอบแฝง ติดเชื้อร้อยละ 3.35 พบสูงสุดที่จังหวัดชุมพร ร้อยละ 25.71 รองลงมาคือ ปัตตานี ร้อยละ 21.95 2. กลุ่มชายที่มาตรวจกามโรค มีความชุกติดเชื้อร้อยละ 4.55 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยพบร้อยละ 3 ในช่วงปี 2544 เป็นต้นมา กลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป มีอัตราติดเชื้อค่อนข้างสูง ร้อยละ 5.46
3.กลุ่มโลหิตบริจาค พบร้อยละ 0.21 4.กลุ่มหญิงฝากครรภ์ พบอัตราการติดเชื้อร้อยละ 0.76 5.กลุ่มชาวประมง มีอัตราติดเชื้อร้อยละ 1.25 6.กลุ่มแรงงานต่างชาติมีอัตราติดเชื้อร้อยละ 0.84 และ 7.กลุ่มชายขายบริการทางเพศ พบอันตราติดเชื้อร้อยละ 9.89 โดยกลุ่มที่มีอัตราการติดเชื้อสูงขึ้นในกลุ่มนี้คือ อายุน้อยกว่า 20 ปี พบร้อยละ 9 และ 8.กลุ่มฉีดยาเสพติดเข้าเส้น มีอัตราติดเชื้อร้อยละ 25.62
จากการประเมินพบว่ากลุ่มที่มีแนวโน้มติดเชื้อลดลงได้แก่ กลุ่มหญิงฝากครรภ์ กลุ่มโลหิตบริจาค กลุ่มชาวประมงและกลุ่มแรงงานต่างชาติ แต่กลุ่มที่มีแนวโน้มติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้แก่ กลุ่มหญิงขายบริการทางเพศตรงและแฝง กลุ่มชายที่มาตรวจกามโรคและกลุ่มชายขายบริการทางเพศ โดยกลุ่มชายที่มาตรวจกามโรค เป็นกลุ่มสำคัญในการนำเชื้อเอชไอวีจากหญิงขายบริการทางเพศมาสู่กลุ่มหญิงทั่วไปได้ จึงต้องเน้นการสร้างพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยในปีงบประมาณ 2552 กรมควบคุมโรคได้จัดซื้อถุงยางอนามัยจำนวน 20 ล้านชิ้น บริการกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ เพื่อใช่ในการป้องกัน