xs
xsm
sm
md
lg

"ชินภัทร" สั่งปรับค่าเฉลี่ยเด็กไทย เทียบชั้นอินเตอร์-ไม่ยุ่งโครงสร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขา กพฐ.
"ชินภัทร" สั่ง สพฐ.เดินหน้าปรับค่าเฉลี่ยเด็กไทยเทียบชั้นนานาชาติ ติดอันดับต้นๆ ของภูมิภาค ใน 10 ปี พร้อมกำหนดจุดเน้นแต้ละช่วงชั้นชัดเจน ย้ำไม่ติดยึดปรับโครงสร้าง เน้นผสานการทำงานเครือข่าย

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยผลการประชุม กพฐ. เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องนโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่จะดำเนินการในปีการศึกษา 2553 โดยที่ประชุมได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดวิสัยทัศน์ให้มีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม และไปสู่ระดับสากลมากขึ้น เช่น กำหนดข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินสมรรถนะผู้เรียนในระดับนานาชาติ เพราะที่ผ่านมาคะแนนเฉลี่ยของเด็กไทยยังมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าของนานาชาติค่อนข้างมาก จึงอยากให้ สพฐ.ตั้งวิสัยทัศน์ว่าจะต้องพัฒนาระดับค่าเฉลี่ยของเด็กไทยให้เท่ากับค่าเฉลี่ยระดับนานาชาติให้ได้ภายใน 10 ปี และหากเป็นระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ควรตั้งวิสัยทัศน์ว่าเด็กไทยต้องมีค่าเฉลี่ยคะแนนอยู่ในลำดับต้นๆ โดยไม่ควรเกินลำดับที่ 2 ของภูมิภาค เป็นต้น

ดร.ชินภัทร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ควรกำหนดจุดเน้นของการจัดการเรียนการสอนในแต่ละช่วงชั้นให้ชัดเจนมากขึ้น ว่าแต่ละช่วงชั้นควรมีจุดเน้นใดในการวัดพัฒนาการของผู้เรียน เช่น ป.3 เน้นอ่านออกเขียนได้ ป.6 เน้นอ่านคล่องเขียนคล่อง คิดคำนวณ แก้โจทย์ปัญหา ม.3 เน้นความสามารถตามมาตรฐานระดับชาติและระดับนานาชาติ พร้อมกันนี้เน้นการคิดคำนวณการจัดการเรียนการสอนในแต่ละช่วงชั้นให้ชัดเจนมากขึ้น ว่าแต่ละช่วงชั้นควรมีจุดเน้นใดในการวัด ทั้งนี้ที่ประชุมยังเห็นว่า นโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้กำหนดไปแล้วนั้น ยังมีการกล่าวถึงบางประเด็นไม่ชัดเจน เช่น เรื่องระบบบริหาร ซึ่งจะต้องมีนโยบายและมาตรการในการแก้ไข หรือการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กให้มีความชัดเจนมากขึ้น และเน้นในการมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ซึ่งขณะนี้ได้รับการชี้แจงจากผู้แทนกระทรวงมหาดไทย(มท.) ว่า ได้มีการผ่อนคลายระเบียบของการใช้งบฯ ของอปท. ไปมากแล้ว ส่งผลให้มีการใช้งบฯ ของท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานได้

“ที่ประชุมได้เน้นย้ำว่าการพัฒนาการศึกษาในช่วงนี้ ควรเน้นการปฏิรูปการศึกษาที่ไม่ยึดรูปแบบของโครงสร้าง ควรเน้นการทำงานเป็นเครือข่าย เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก ควรรวมกลุ่มกันทำงาน มีการแลกเปลี่ยนหรือใช้ทรัพยากรร่วมกัน และควรดึงสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่เข้ามาเป็นหน่วยสนับสนุนทางด้านวิชาการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธาน กพฐ. ได้มีโครงการนำร่องไว้ในหลายพื้นที่ ซึ่งในส่วนนี้ สพฐ.ก็จะสานต่อโครงการนำร่องนี้ต่อไป” เลขาฯ กพฐ. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น