xs
xsm
sm
md
lg

สบศ.ปรับหลักสูตรนาฏศิลป์รับศก.สร้างสรรค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วธ.มอบ สบศ.ปรับหลักสูตรรับโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้านอธิการบดีแจงจัดไม่ทันปีการศึกษา 53 เพราะต้องส่งให้สกอ.ดูก่อน แก้ขัดจัดวิชาผู้ประกาศ-พิธีกร-ภาษาเสริมฐานความรู้นาฏศิลป์ให้นักศึกษาไปก่อน

นายกมล สุวุฒโฑ อธิการบดีสถาบันบัณพิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2553 ได้กำหนดนโยบายการดำเนินงานของ สบศ. โดยเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของบุคคลกรทางการศึกษา ทั้งครูวิทยฐานะ โดยตำแหน่งทางวิชาการ และครูชำนาญการพิเศษ ทุกระดับ ให้มีการพัฒนาในเรื่องการเรียนการสอนสื่อและอุปกรณ์การสอนให้มีคุณภาพ โดยจะให้มีการจัดอบรมทางวิชาการของครูผู้สอน ค้นหาจุดเด่น และจุดด้อยของการสอนของตนเอง จากนั้นก็จะให้พัฒนาและแก้ไขให้มีความเหมาะสม เพื่อที่จะสร้างเสริมการเรียนการสอนนักเรียน นักศึกษาในปีการศึกษา 2553 รวมทั้งจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโท ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553 ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ไทย และสาขานาฎศิลป์ไทย ต่อไป

อธิการบดี สบศ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สบศ.ได้รับมอบหมายจาก นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรมให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการจัดทำหลักสูตรของ สบศ. ให้มีความสอดคล้องรองรับกับโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของ วธ. ซึ่งจากการที่ตนได้ศึกษาโครงสร้างหลักสูตรของสถาบันแล้ว พบว่า หากจะมีการจัดทำหลักสูตรใหม่ในปี 2553 นี้ คงไม่สามารถทำได้ทัน เนื่องจาก ทางสบศ. ได้ส่งหลักสูตรการเรียนการสอนของทุกระดับในปี 2553ไปยัง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ สบศ. สามารถทำได้ ก็คือการจัดทำวิชาเสริมโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มเติมไปในหลักสูตรหลัก อาทิ การสอนเป็นพิธีกร ผู้ดำเนินรายการ ผู้ประกาศ และด้านภาษาศาสตร์ เป็นต้น เพื่อให้นักเรียน นักศึกษามีความรู้ทางด้านวิชาชีพเสริมการเรียนด้านดนตรี นาฏศิลป์ซึ่งเป็นวิชาหลักด้วย

“ในส่วนการเปิดรับนักศึกษาระดับมหาบัณฑิตนั้น ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดรับนักศึกษา ในเดือน กุมภาพันธ์ นี้ สาขาละ 25 คน เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นคัดกรองผู้ที่เข้ามาศึกษาอย่างเข้มงวด และสามารถรับประกันความสามารถของมหาบัณฑิตที่จบการศึกษาว่า จะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านดุริยางคศิลป์ และ นาฏศิลป์ไทย อย่างเข้มข้น ซึ่งทาง สบศ. ได้ตั้งเป้าหมายว่าในแต่ละปีจะมีผู้จบการศึกษาไม่ต่ำกว่า 20 คนโดยมหาบัณฑิตที่จบจากสบศ.ไป จะมีทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถต่อยอดไปสู่การทำงานที่มีคุณภาพได้ 100% โดยเฉพาะการเป็นผู้ชำนาญการในสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ทั่วประเทศ เพราะปัจจุบัน สวจ. กว่า 90% ยังขาดผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแสดง ดนตรี โดยเฉพาะ ทำให้การทำงานไม่มีความคล่องตัว ” นายกมล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น