xs
xsm
sm
md
lg

งานเข้า! “หมอวิชัย” กก.สอบข้อเท็จจริงโผล่แฉ สรุปผลยูวีแฟนบิดเบือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วิชัย โชควิวัฒน
โอละพ่อ "หมอวิชัย" งานเข้า ผอ.รพ.ชุมพวงหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดยอมรับ รู้ตั้งแต่แรก "ยูวีแฟน" ไม่ใช่เครื่องมือแพทย์ ไม่ต้องผ่านอย. แต่ในรายงานสรุปอีกอย่างต้องถาม “หมอวิชัย” ด้าน“มานิต”ยังไม่แจ้งความ เชื่อไม่มีกระบวนการดิสเครดิตคณะกรรมการฯ ชี้แพทย์เหลืออด ไม่อยากให้คนแค่ 3 คนทำสธ.ปั่นป่วน ขณะที่"หมอวิชัย" จวกกรมการแพทย์ดิสเครคิสคณะกรรมการตรวจสอบฯ ไม่ถูกต้องที่ข้าราชการที่ดีพึ่งกระทำ แฉทั้งการชี้แจงผ่านสื่อ ซื้อสื่อโฆษณา แทนหาทางแก้ไขข้อบกพร่อง ยันคณะกรรมการฯ ปราศจาคอคติ

จากกรณีที่นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 6 แจ้งความดำเนินคดีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จำนวน 8 คน จากทั้งหมด 9 คนยกเว้นเพียงพล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ในข้อหาหมิ่นประมาท เนื่องจากคณะกรรมการฯสรุปผลการตรวจสอบว่านพ.จักรกฤษณ์บกพร่องในหน้าที่กรณีการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิดหรือยูวีแฟน ในราคาแพงเครื่องละ 9.9 หมื่นบาท โดยอ้างว่านำเข้าจากต่างประเทศแต่ไม่สามารถหาเอกสารนำเข้าจากต่างประเทศมายืนยันได้ ซึ่งภายหลังนพ.จักรกฤษณ์ ได้นำเอกสารการนำเข้ามาเปิดเผยและให้ข้อมูลว่าเครื่องยูวีแฟนไม่ใช่เครื่องมือแพทย์จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นั้น

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมา หนึ่งในกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า เป็นสิทธิของนพ.จักรกฤษณ์ที่จะดำเนินการฟ้องร้องได้ ซึ่งในกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการฯใช้เวลากับเรื่องเครื่องยูวีแฟนนานมาก และต้องยอมรับว่าเครื่องชนิดนี้บุคลากรทางการแพทย์ไม่เคยรู้จักมาก่อน จึงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม ด้วยการสอบถามไปยังอย.ก็ได้รับข้อมูลว่าไม่มีเอกสารการขึ้นทะเบียน และเครื่องนี้ไม่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ไม่ต้องขึ้นทะเบียน จากนั้นจึงตรวจสอบไปยังกรมศุลกากร มีเอกสารการนำเข้าเครื่องนี้จริง และข้อมูลทั้งหมดนี้ก็ระบุอยู่ในเอกสารรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ส่งให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการฯได้ขอเอกสารการนำเข้าจากบริษัท มาซูม่า (แห่งประเทศไทย) จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ขายเครื่องนี้ให้รพ.ในจ.นครศรีธรรมราชหรือไม่ นพ.วชิระ กล่าวว่า จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าได้ขอเอกสารกับทางบริษัท

เมื่อถามต่อว่า เมื่อคณะกรรมการทราบว่าเครื่องนี้ไม่ใช่เครื่องมือแพทย์และนำเข้าจากต่างประเทศจริง เหตุใดในเอกสารสรุปรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริง ฉบับที่ 9 กรณีเครื่องUV Fan หน้า 15จึงระบุว่า ไม่มีหลักฐานการนำเข้าจากต่างประเทศและบริษัท มาซูม่าฯไม่สามารถส่งหลักฐานการนําเข้าแก่คณะกรรมการได้ นพ.วชิระ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถามนพ.วิชัย โชควิวัฒน เลขานุการและคณะกรรมการตรวจสอบฯ

ด้านนายมานิต นพอมรบดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ตนจะยังไม่ดำเนินการทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกในสธ.มากไปกว่านี้ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ย่ำแย่มากอยู่แล้ว และหากตนดำเนินการใดๆก็จะถูกกล่าวหาว่าฝ่ายการเมืองแทรกแซงอีก อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้นักกฎหมายพิจารณาสรุปผลการตรวจสอบอย่างละเอียดด้วย

“ในส่วนของผลการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องกับผม ผมยืนยันตลอดว่าไม่ได้รับผิดชอบหน่วยงานที่ถูกกล่าวอ้าง ไม่ได้มีอำนาจเซ็นอนุมัติ เขาเพียงสงสัยแล้วตั้งข้อกล่าวหา ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”นายมานิตกล่าว สำหรับการที่มีแพทย์หลายส่วนออกมาตั้งข้อสังเกตต่อผลการตรวจสอบและมีแพทย์บางกลุ่มคิดว่าเป็นกระบวนการดิสเครดิตคณะกรรมการฯนั้น นายมานิต กล่าวว่า คงจะไม่ใช่กระบวนการดิสเครดิตคณะกรรมการฯ แต่แพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขคงจะเหลืออดแล้ว ตนเชื่อมั่นในเกียรติ ศักดิ์ศรีของแพทย์กระทรวงสาธารณสุขว่าไม่มีใครสามารถสั่งหรือชี้นำเขาได้

“การที่แพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขออกมาเคลื่อนไหวพร้อมๆกันโดยไม่ได้นัดหมาย คงเพราะไม่อยากให้คนแค่ 3 คนทำให้กระทรวงฯปั่นป่วนอีกต่อไป แพทย์กระทรวงนี้คงไม่มีใครเข้าไปชี้นำได้ สิ่งที่แพทย์ออกมาพูดก็สะท้อนปัญหาภายในของกระทรวงเอง ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองชักจูงแน่นอน”นายมานิตกล่าว

ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 6 แจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทคระกรรมการตรวจสอบฯ รวมถึงมีกลุ่มแพทย์ออกมาโจมตีผลการตรวจสอบโครงการไทยเข้ม ว่า ยืนยันว่าการจัดซื้อครุภัณฑ์การแพทย์ของกรมการแพทย์ไม่มีการประเมินเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ และสามารถเปรียบข้อมูลผลการสอบครุภัณฑ์ทางการแพทย์ของทางวุฒิสภาได้ เนื่องจากมีความเห็นไม่แตกต่างกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ และหากกรมการแพทย์ชี้แจงข้อมูลให้กับคระกรรมการฯ เช่นเดียวกับสื่อมวลชนแต่แรก เรื่องดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น

"คณะกรรมการฯ มีทั้งข้อมูลที่เป็นเอกสารและเทปข้อมูลชัดเจน การออกเปิดเผยข้อมูลและดิสเครคิสคณะกรรมการฯ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่ข้าราชการที่ดีพึ่งกระทำ ควรมีการนำไปถกเถียงทางวิชาการ ไม่ใช่ผ่านสื่อสาธารณะหรือแม้แต่การลงโฆษณาชี้แจง เพราะข้าราชการที่ต้องดูว่าอะไรบกพร่องก็ควรแก้ไข ทั้งนี้ ขั้นตอนการจัดซื้อครุภัณฑ์แม้จะยังไม่ได้รับงบประมาณก็สามารถทำรายละเอียด และประเมินเทคโนโลยีการจัดซื้อไว้ก่อนได้ สามารถให้เหตุผลชี้แจง หากไม่ได้รับงบประมาณจริงก็สามารถแก้ไขภายหลังได้ "นพ.วิชัยกล่าว

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีนพ.จักรกฤษณ์ นั้นมีสิทธิที่จะดำเนินการได้ แต่ทางคณะกรรมการฯได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องดำเนินการเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็งเท่านั้น นอกจากนี้คณะกรรมการฯยังพบความพยายามในการนำเครื่องยูวีแฟน เข้าไปในหลายพื้นที่และหากมีการติดเชื่อมโยงข้อมูลจะพบว่า งานบางพื้นที่ก็ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว

" คณะกรรมการฯ ทำใจตั้งแต่ได้รับมอบหมายให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ก็ต้องดูว่ากลไกของรัฐจะสามารถมีขั้นตอนใดปกป้องคณะกรรมการได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวแล้วไม่หนักใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งการชี้แจงผลการสอบของกรมการแพทย์ การแจ้งความดำเนินคดี ยืนยันทำงานด้วยความถูกตรง ปราศจากอคติ"
นพ.วิชัยกล่าวว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น