xs
xsm
sm
md
lg

“หมอเรวัต” จวก กก.สอบ sp2 ชุด “หมอบรรลุ” สะเพร่า-ดิสเครดิต ตอกด่วนสรุปจนสอบไม่ครบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อธิบดีกรมการแพทย์ จวกคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุด “หมอบรรลุ” ไม่สะเพร่าก็ส่อเจตนากลั่นแกล้ง จี้สำนึกบกพร่องต้องออกมายอมรับ ตอกพลาด 2 ประเด็นใหญ่ ดูตัวเลขผิด-ด่วนสรุปทั้งที่ตรวจสอบข้อมูลไม่ครบถ้วน งงตรวจสอบพบข้อสงสัยไม่เรียกถามผู้เชี่ยวชาญแต่สรุปเอาเอง เตรียมส่งข้อมูลให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาด้าน “หมอบรรลุ” เมินข้อมูลกรมการแพทย์แจกแจงไม่โกงไทยเข้มแข็ง โบ้ยถาม “หมอวิชัย” เอง ขณะที่ สธ.ตั้งคณะทำงานทบทวนและปรับราคาสิ่งก่อสร้างให้เหมาะสม ขีดเส้นเสร็จในวัน 15 ม.ค.นี้ ก่อนส่งคณะกรรมการกลั่นกรองชุดใหญ่

เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 12 มกราคม ที่กรมการแพทย์ นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์แถลงข่าวข้อเท็จจริงโครงการไทยการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในส่วนของกรมการแพทย์ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดจากผลสรุปของคณะกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็งของ สธ.ที่มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน ซึ่งกล่าวหาว่า กรมการแพทย์ตั้งราคาสิ่งก่อสร้าง 4 รายการ และเครื่องมือแพทย์ราคาแพง 12 รายการ อาจมีเจตนาไม่สุจริต เปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์นั้น พบว่า คณะกรรมการตรวจสอบฯ มีข้อบกพร่องสำคัญ 2 ข้อ คือ 1.คณะกรรมการตรวจสอบฯ ดูตัวเลขผิดหรืออาจจะมีเจตนากลั่นแกล้งกรมการแพทย์ เช่น อาคารผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี พื้นที่จริง 39,480 ตารางเมตร คณะกรรมการฯเขียนและดูผิดจากเลข 9 เป็นเลข 4 จึงบันทึกในรายการผลสรุปการตรวจสอบของคณะกรรมการฯด้วยตัวเลข 34,480 ตารางเมตร ส่งผลให้พื้นที่หายไป 5 พันตารางเมตร เมื่อนำไปคิดคำนวณราคาต่อหน่วยจึงสูงเกินจริง จากที่ถูกต้อง 21,000 บาทกลายเป็น 24,045 บาท ซึ่งมีเอกสารของกองแบบแผนยืนยันในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน

“คณะกรรมการอาจจะกลั่นแกล้งเป็นเพราะเหตุใด ผมไม่มีคำตอบ เพราะเป็นการสันนิษฐานโดยไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า ต้องการกลั่นแกล้งเพราะเหตุใด แต่ผมไม่เคยมีเหตุใดๆ กับคณะกรรมการเลย ไม่ได้มีความเกลียดชังหรืออคติกับคณะกรรมการฯเลย อาจเรียกว่ารักก็ได้ แต่ยืนยันว่า กรมการแพทย์ไม่มีเจตนาทุจริต” นพ.เรวัต กล่าว

นพ.เรวัต กล่าวต่อว่า 2.คณะกรรมการฯ ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วนอย่างแท้จริงโดยเฉพาะเรื่องเครื่องมือแพทย์ เช่น กรณีเครื่องเอกซเรย์ส่องตรวจระบบดิจิตอล(Digital Fluoroscopy) ของโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ถูกกล่าวหาตั้งราคาแพง คือ ราคา 15 ล้านบาท แต่สถาบันบำราศนราดูรตั้งราคาไว้ที่ 8 ล้านบาท ซึ่งความจริงเรื่องนี้คือ ในการจัดทำคำของบประมาณ ชื่อเครื่องมือเหมือนกันแต่ขนาดต่างกัน โดยของโรงพยาบาลนพรัตน์เป็น 80 Kw 1,000 MA ขณะที่ของสถาบันบำราศฯ อยู่ที่ 50 Kw 630 MA นอกจากนี้ มีความแตกต่างในเรื่องของประสิทธิภาพและคุณสมบัติใช้งานและองค์ประกอบเครื่องของโรงพยาบาลนพรัตน์มากกว่า

นพ.เรวัต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีในส่วนของชุดศูนย์กลางเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจ(Central Monitor) ขนาดรับสัญญาณผู้ป่วยข้างเตียงได้พร้อมกัน 8 เตียง ของ รพ.เลิดสิน ราคา 9.2 ล้านบาท แต่การจัดซื้อของ รพ.เลิดสินเมื่อปี 2552 ราคา 3.5 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการฯไม่ได้ดูในรายละเอียดว่าที่ราคาต่างกันนั้นเป็นเพราะเครื่องที่ขอซื้อในครั้งนี้ มีคุณสมบัติเหนือกว่าของเดิม 5 ประการ คือ จอมอนิเตอร์ทั้งชุดมีขนาดใหญ่กว่า ความสามารถในการเก็บข้อมูล การเฝ้าติดตามข้อมูล การเรียกดูข้อมูลสูงกว่า มีระบบวิเคราะห์ข้อมูลของEKG มีModule RACK ชุดต่อเพิ่มเติม และมีTransfer monitor

“ข้อสรุปของคณะกรรมการไม่เป็นความจริง เพียงแค่คณะกรรมการฯเห็นข้อมูลครบและละเอียดด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ก็จะไม่ตั้งข้อกล่าวหาต่อกรมการแพทย์มากขนาดนี้ ซึ่งชั่วโมงนี้ข้อกล่าวหาเป็นลักษณะทางสังคม กรมตกเป็นจำเลยสังคม จึงอยากบอกประชาชนว่ากรมไม่ได้ทำอะไรผิดและไม่ได้ส่อทุจริต ผมพูดความจริงทุกคำ”นพ.เรวัต กล่าว

นพ.เรวัต กล่าวด้วยว่า โดยสรุปทุกรายการทั้งสิ่งก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ในส่วนของกรมการแพทย์ที่คณะกรรมการฯ กล่าวหาว่ามีความบกพร่องในลักษณะนี้ทุกรายการ โดยตนได้เรียกผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้ขอซื้อเครื่องมือแพทย์ที่บอกว่ามีราคาแพงแต่ละชิ้นมาอธิบายและบอกความจริง ซึ่งก็สามารถอธิบายได้ชัดเจนทุกรายการ และขอย้ำว่าทุกรายการยังไม่ได้มีการซื้อหรือจ้างหรือสร้างใดๆเลย ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการของบฯ เท่านั้น ทั้งนี้ กรมฯเตรียมที่จะนำข้อมูลเหล่านี้เรียนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีทราบ เนื่องจากตนแน่ใจและมั่นใจในข้อมูลเพราะตนเป็นคนตรวจสอบเอง

“สิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าไม่สะเพร่าก็อาจจะเกิดจากเจตนากลั่นแกล้ง คณะกรรมการมีความเห็นว่ามีเจตนาจะทุจริตทั้งที่เป็นความผิดพลาดของคณะกรรมการเอง แต่กลับตั้งข้อกล่าวหากรมฯ จนได้รับความเสียหายเรียบร้อยแล้ว ส่วนคณะกรรมการฯจะรับผิดชอบอย่างไร ปล่อยให้เป็นสำนึกของตัวเอง เพราะคณะกรรมการฯเป็นผู้ใหญ่และมีเครดิตทางสังคมสูง สังคมให้ความเชื่อถือมาก ผมคิดว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ท่านคงรับผิดชอบ เช่น ยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น ที่อาจเป็นเพราะรีบร้อนในการสรุปข้อมูลหรืออาจจะมีเจตนาอื่น”นพ.เรวัต กล่าว

นพ.เรวัต กล่าวอีกด้วยว่า ตนไม่ทราบว่าที่คณะกรรมการฯอ้างว่ามีการตรวจสอบจากบุคคลจำนวนมากมีการดำเนินการจริงหรือไม่ เท่าที่ทราบเจ้าหน้าที่ของกรมบอกเพียงว่ามีการโทรศัพท์มาสอบถามเท่านั้น และในส่วนของเครื่องมือของกรมการแพทย์ที่ถูกกล่าวหา คณะกรรมการฯไม่ได้เรียกผู้เชี่ยวชาญไปชี้แจงข้อเท็จจริง ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและหัวใจที่เป็นผู้ขอใช้เครื่องมือแต่ละชนิด สามารถอธิบายได้ดีว่าทำไมราคาแพงกว่า แต่คณะกรรมการเพียงดูจากคำของบประมาณโดยไม่ได้ดูสเปก ขนาดและประสิทธิภาพของเครื่องเลย หรือไม่ก็ใช้เพียงวิธีการเทียบกับราคาที่เคยซื้อมาก่อน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ผลสรุปของคระกรรมการฯ ทำให้นพ.เรวัตและกรมการแพทย์เสื่อมเสียชื่อเสียงจะมีการฟ้องร้องทางกฎหมายหรือไม่ นพ.เรวัต กล่าวว่า อยากอโหสิกรรม และแผ่เมตตา ไม่อยากจองเวร เสียเวลาทำงาน และขณะนี้เจ้าหน้าที่ของกรมการแพทย์และโรงพยาบาลในสังกัดเสียกำลังใจมาก เพราะพวกเขาไม่มีเจตนาทุจริตแต่กลับตกเป็นจำเลยไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครองได้มาให้ข้อมูล แต่กรมยังไม่คิดดำเนินการทางกฎหมายใดๆในช่วงนี้

ขณะที่ นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็ง กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่อยากตอบโต้ นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ ที่ระบุข้อมูลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯว่ามีความผิดพลาด และอาจมีเจตนากลั่นแกล้ง โดยเรียกร้องให้คณะกรรมการฯแสดงจิตใจสำนึกรับผิดชอบความผิดพลาดที่ขึ้นนั้น พร้อมยืนยันการตรวจสอบของคณะกรรมการไม่ระบุมีความมีการทุจริตเกิดขึ้นในกระบวนการจัดซื้อ หรือก่อสร้าง เพียงแต่ให้มีการทบทวนเท่านั้น แสดงว่าอธิบดีกรมการแพทย์ไม่ได้อ่านข้อมูลให้ละเอียด ส่วนที่อธิบดีกรมการแพทย์จะมีการรวบรวมข้อมูลความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนั้น ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ตนไม่ขอแสดงความเห็น และหากอยากได้ความคิดเห็นขอให้ไปถามนพ.วิชัย โชควิวัฒน เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ

วันเดียวกัน นพ.ไพจิตร์วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการทบทวนความเหมาะสม และแก้ไขปัญหาโครงการไทยเข้มแข็ง กระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการทบทวนฯ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้กระทรวงสาธารณสุขมาทบทวนราคา ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างที่มีราคาสูง จากงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในโครงการไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2552 ซึ่งในที่ประชุมได้พิจารณาเฉพาะในส่วนสิ่งก่อสร้าง และเห็นว่าราคากลางตามที่เสนอของกองแบบแผนนั้น เป็นราคามาตรฐาน แต่เพื่อแสดงให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการทางการบริหารที่จะช่วยประหยัดให้กับประเทศ จึงมีมติให้ทบทวนลดราคากลางโดยมอบหมาย นพ.สุรเชษฐ์ สถิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนจากชมแพทย์ชนบท สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป หารือร่วมกันว่าจะสามารถลดราคาได้เท่าไร และให้นำมาเสนออีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค. นี้

นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนจากนั้นจะเสนอต่อคณะอนุกรรมการชุดกลั่นกรองโครงการไทยเข้มแข็งที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานในสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะเสนอเข้าครม.เพื่อดำเนินการตามโครงการต่อไป ซึ่งงบฯ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในโครงการไทยเข้มแข็งนั้น เป็นงบฯที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้รับมาแล้ว ส่วนรายการตามโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุว่ามีปัญหาทุจริตจะอยู่ในโครงการที่จะได้รับงบฯ ตาม พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งยังไม่ได้รับงบฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น