xs
xsm
sm
md
lg

ขอของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล! / ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์(แฟ้มภาพ)
บทความโดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร

เมื่อท้ายปีเก่าที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆ ที่อาจจะมีเพียงผู้ติดตามสถานการณ์เรื่ององค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่รับรู้ ทั้งๆ ที่เป็นข่าวดีและเป็นของขวัญปีใหม่ที่ศาลปกครองกลางได้มอบให้แก่ประชาชนชาวไทย ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2552

ข้าพเจ้าขอนำข่าวนี้ขึ้นมาเขียนเป็นข่าวและขยายผลอีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องล่อแหลมต่อสถานการณ์การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ที่มีผลกระทบต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนไทย โดยเฉพาะกับประเด็นเรื่องพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรของไทย ซึ่งได้เข้าไปอยู่ในเงื่อนไขของการทำแผนการจัดการสำหรับปราสาทและพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาจะต้องส่งแผนบริหารจัดการเหนือพื้นที่นี้ต่อศูนย์มรดกโลกภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 เพื่อนำเข้าพิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 34 ประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2553 ต่อไป เพราะเป็นพื้นที่กันชน และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่พัฒนาตามแผนบริหารจัดการตามเงื่อนไขของการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

คำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นข่าวดีอย่างไร และทำไมยังมีเรื่องล่อแหลมต่อสถานการณ์อยู่ ที่ว่าคำพิพากษาของศาลปกครองเป็นข่าวดี ก็เพราะศาลได้วินิจฉัยในประเด็นสำคัญ รวม 2 ประเด็น

1) คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เพราะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำการโดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545

2) การที่ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เมื่อ 18 มิถุนายน 2551 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และในการวินิจฉัยนั้นปรากฏคำยืนยันในเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่น่าสนใจและที่มีความชัดเจนต่อการนำไปปฏิบัติ ซึ่งประชาชนหรือเจ้าของอธิปไตยขออำนาจให้ศาลปกครองเข้ามาช่วยแก้ไขความเดือดร้อนและเยียวยาความเสียหายจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ยุติความผูกพันของผู้ถูกฟ้องตามแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อประเทศกัมพูชาและองค์การยูเนสโก ยืนยันว่าไทยยังยึดเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาโดยอ้างสันปันน้ำตาม อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1904 (พ.ศ.2446) ยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่าอาณาเขตบริเวณปราสาทพระวิหารตามพระราชกฤษฎีกาของประเทศกัมพูชา ลงวันที่ 13 เมษายน 2549 นั้นล้ำเข้ามาในดินแดนของประเทศไทย (นั่นคือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรนั่นเอง-ผู้เขียน)

ส่วนข้อที่ว่ายังมีเรื่องล่อแหลมต่อสถานการณ์อยู่นั้นเป็นอย่างไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในประเทศ เมื่อประชาชนเจ้าของอธิปไตยได้ขออำนาจให้ศาลปกครองแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ปกครองซึ่งใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนแล้ว สมควรที่ผู้ปกครองหรือรัฐบาลปัจจุบันจะขานรับโดยจะพิจารณานำคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2552 แจ้งให้องค์การยูเนสโก และศูนย์มรดกโลก ได้ทราบข้อเท็จจริง เพื่อเป็นการให้ข้อมูลความไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกิดขึ้นและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องเรื่องความผูกพันที่ไม่ชอบและไม่อาจเกิดขึ้นได้ตามแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อประเทศกัมพูชา และองค์การยูเนสโก เสียก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ข้อวินิจฉัยอื่นๆ ในคำพิพากษารวม 53 หน้า หากรัฐบาลจะรับและนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ ก็จะเป็นการที่รัฐบาลได้แก้ไขความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอธิปไตย ดินแดน ผลประโยชน์ของประเทศชาติ และความมั่นคงของสังคมและประชาชน รวมทั้งยังเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ข้ออ้างเรื่องพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร คือพื้นที่พัฒนาร่วมแนวชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา รวมทั้งพื้นที่พัฒนาร่วมชายแดนตรงจุดอื่นๆ ในความรับผิดชอบทำแผนบริหารจัดการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะไม่สามารถดำเนินการได้ หากยึดถือข้อวินิจฉัยของศาลปกครอง

ข้ออ้างเรื่องการลงนามใน MOU 2543 หรือการจะแอบอ้างใช้แผนที่ 1:200,000 ตามกัมพูชา ก็ขัดข้อวินิจฉัยของศาลปกครอง และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

หากจะแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้ล่อแหลม ขอรัฐบาลช่วยวางมือจากปัญหาทางการเมืองสักนิด มาแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองเรื่องอธิปไตยและดินแดนกรณีเขตแดนไทย-กัมพูชา อย่างจริงใจ

ศาลปกครองวินิจฉัยมาแล้ว รัฐบาลขานรับรีบไปดำเนินการ ถือว่าเป็นของขวัญชิ้นใหญ่มอบให้ประชาชนและบ้านเมืองของเรา ทำเสียตอนนี้จะได้ไม่มีอะไรต้องเสีย ไม่ว่าจะเป็นชาติบ้านเมือง หรือพรรคการเมืองก็ตาม!

กำลังโหลดความคิดเห็น