xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “สมุนไพรไทย”ในเวที AFTA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์
เพิ่งผ่านบรรยากาศชื่นมื่นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่กันมายังไม่ทันจะหมาดดี คนไทยจำนวนไม่น้อยก็มีอันต้องตระหนกตกใจและกังวลกับกระแสพันธกรณีลดภาษีและยกเลิกมาตรการโควตาภาษีที่ไทยได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า (AFTA) ที่ก่อนหน้านี้ก็มีการทำความตกลงลดภาษีมาตลอด จนกระทั่งลดลงเหลือ0% แทบทุกรายการ

“เรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่ ตั้งแต่พ.ศ.2536 Aftaมี 6 ประเทศ รวมตัวกันเพื่อให้เศรษฐกิจและการค้าฝั่งอาเซียนเข้มแข็ง ต่อมาก็มีน้องใหม่อีก 4 ประเทศคือพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก็มีการเจรจาปรับลดกำแพงภาษี โดยเริ่มที่กลุ่มรุ่นพี่ 6 ประเทศก่อน เราตกลงว่าจะลดภาษีลงให้มากที่สุดจนให้เหลือ0% ก็มีการลดลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง 1 มกราคม นี้คือเหลือ 0% แทบทุกรายการ มีเฉพาะที่อ่อนไหวมากๆ บางรายการที่เรายังคงภาษีไว้ 5%”

วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ให้ภาพกรณีการยกเลิกกำแพงภาษีอาฟต้าแบบคร่าวๆ ก่อนจะประเมินสถานการณ์ความตื่นตระหนกและกังวลของประชาชนว่า น่าจะมาจากมุมมองที่ต่างกัน

“คนส่วนใหญ่จะมองว่าเราเสียอะไรมากกว่าที่เราจะได้ประโยชน์อะไรจากการยกเลิกกำแพงภาษีในครั้งนี้ ผลกระทบเชิงบวกต่อสินค้าหลักๆ ของเราอย่าง “ข้าว” นี่ถือว่าน่าจะดีมาก แต่มันก็มีสินค้าบางรายการที่อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง เช่นสินค้าประเภทสมุนไพร”
รศ.ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ให้เหตุผลที่ตลาดสมุนไพรไทยในเวทีอาฟต้าน่าจะได้รับผลกระทบเพราะแม้ไทยจะมีสมุนไพร ทั้งในรูปวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรจำนวนมาก แต่ความเชื่อมั่นในการใช้รวมถึงทัศนคติของผู้บริโภคที่นิยมใช้ยาสมุนไพรยังไม่มากเท่าที่ควร รวมถึงประเด็นในเรื่องความปลอดภัยของสมุนไพรด้วย

“ทางกระทรวงพาณิชย์เรามีโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือที่เรียกว่า “กองทุนฯ FTA” ซึ่งงานสมุนไพรนี้เราให้ทุนไป 14 ล้านบาท ซึ่งหลังจากงานวิจัย องค์ความรู้ที่ได้ทางกระทรวงฯ จะให้เป็นองค์ความรู้กลาง สามารถนำไปใช้ได้แบบไม่มีค่าลิขสิทธิ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในวงการสมุนไพรอย่างแท้จริง”

ด้าน “รศ.ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์” จากคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ในฐานะหัวเรือใหญ่ในการณ์นี้เปิดเผยว่า เฉพาะในอาเซียน มีหลายประเทศที่ผลิตยาสมุนไพรได้ทั้งในระดับที่สามารถส่งขายในตลาดโลกและผลิตใช้กันเองในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่อย่างจีน ที่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามของ “ยาจีน” เ,อินโดนีเซียที่โดดเด่นด้วย “จามู” หรือยาน้ำตำรับแผนโบราณ แถมยังไม่นับ “ยี่ปั๊วรายใหญ่” อย่างสิงคโปร์ที่กว้านซื้อสมุนไพรจากหลายประเทศเพื่อส่งออกทำกำไร
การอบรมการผลิตยาสมุนไพรให้มีคุณภาพ
“เรามองว่าเจออาฟต้าปีนี้ สมุนไพรไทยน่าจะวิกฤติ เพราะแม้ไทยจะมีสมุนไพรที่มีศักยภาพสูง แต่ความนิยมยังไม่แพร่หลาย แพทย์แผนปัจจุบันเองก็ไม่กล้าสั่งยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติให้ผู้ป่วยใช้เพราะไม่เชื่อมั่นในศักยภาพ ประชาชนจำนวนมากไม่กล้าใช้เพราะเกรงไม่ปลอดภัย โรงงานผลิตยาสมุนไพรก็ขาดองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยในการผลิต เรามองว่าทุกๆ อุปสรรคนี้ต้องแก้และทำไปพร้อมๆ กัน โจทย์ก็คือ เราต้องทำให้ยาสมุนไพรไทยได้มาตรฐานที่จะทำให้คนในประเทศนิยมใช้ และหากมากขึ้นไปในระดับที่ใหญ่กว่านี้ก็คือ ทำให้ตลาดระดับสากลเชื่อมั่น นั่นเป็นทางรอดเดียวที่จะทำให้สมุนไพรอยู่ได้ในวิกฤติอาฟต้า”

เมื่อทราบถึงอุปสรรคในภาพรวมแล้ว รศ.ดร.นพมาศที่ได้ความร่วมมือจากคณะทำงานกว่า20ชีวิต ทั้งจากคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล,คณะเภสัชศาสตร์ ม.นเรศวร,คณะเภสัชศาสตร์ ม.หัวเฉียว,คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รวมถึงโรงพยาบาลที่ทำงานด้านสมุนไพรมานานอย่างโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดการและขนาดย่อม ก็ได้เริ่มระดมสมองวางยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยต่อลมหายใจสมุนไพรไทยในมิติการค้าและการส่งออกที่อาจเกิดขึ้นจากการอาฟต้า
การอบรมการผลิตยาสมุนไพรให้มีคุณภาพ
“ยุทธศาสตร์แรกคือเราให้ทางสถาบันเอสเอ็มอีไปศึกษาSupply Chain Management ของสมุนไพร เพื่อหาจุดอ่อน จุดแข็ง ในเชิงธุรกิจ ในยุทธศาตร์ที่สองม.มหิดลและทุกม.เครือข่ายรับไปคือการศึกษาวิจัยแบบ Research and Development เพื่ออุดรอยรั่วด้านความไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยและศักยภาพของสมุนไพรจากทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและประชาชน ถือเป็นการติดอาวุธให้สมุนไพรไทยมีความเฉียบคมและน่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งรูปแบบการศึกษาวิจัยจะเป็นไปเพื่อการหาหลักประกันความปลอดภัยในการใช้ยาสมุนไพร 19 ชนิดในบัญชียาหลักที่มีทั้งเป็นยาเดี่ยวและยาตำรับ เพื่อให้แพทย์เชื่อถือและมั่นใจพอที่จะสั่งยาสมุนไพรให้แก่คนไข้ได้ ส่วนคนไข้ก็วางใจมากพอที่จะใช้แทนยาแผนปัจจุบัน”

ขุนพลหญิงด้านสมุนไพรผู้กลายมาเป็นหัวเรือใหญ่ในงานนี้กล่าวต่อไปอีกว่า ในการทำงานของยุทธศาสตร์ที่สองนั้น นอกจากที่จะศึกษาวิจัยเพื่อหาองค์ความรู้แล้ว คณะทำงานยังได้ “ส่งต่อองค์ความรู้” ต่อ “แหล่งผลิตยาสมุนไพร” ทั้งโรงงานและโรงพยาบาลที่ผลิตยาสมุนไพรใช้เองอีกด้วย
การอบรมการผลิตยาสมุนไพรให้มีคุณภาพ
“เนื่องจากเราคุยกันแล้วว่าองค์ความรู้ที่เราได้จากการวิจัยในครั้งนี้ให้ตั้งให้เป็นองค์ความรู้กลาง เราจึงส่งต่อองค์ความรู้ไปยัง Line การผลิต ประเทศไทยมีโรงงานทำยาสมุนไพรเป็นพันๆ โรง แต่มีเพียง 20 กว่าโรงเท่านั้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย เราได้นำความรู้ที่เราศึกษาวิจัยได้มาอบรมผู้ประกอบการในสายการผลิตสมุนไพรอีกทีหนึ่งอย่างเป็นระบบ ขณะนี้มีโรงงานเข้าร่วมอบรมกับเราแล้ว 60 โรง เรามีการอบรมย่อยๆ ในเรื่องของการทำยาเม็ดสมุนไพรที่ถูกต้อง เช่น วิธีการตอกยาสมุนไพรให้ออกมาเป็นเม็ด ว่าต้องใช้อะไรประสานผงยาที่เมื่อลงไปในกระเพาะแล้วจะแตกตัวดี ยาได้ผล หรือการทำเจลทำครีมยาสมุนไพรให้มีคุณภาพ อันนี้โรงงานวิจัยเองไม่ได้ คนที่ทำได้คือเภสัช และเมื่อเภสัชมาระดมแรงวิจัยกันจนออกมาเป็นองค์ความรู้ เราจึงอยากส่งต่อไปสู่สายการผลิตจริงๆ เพื่อให้ผลิตยาที่ดีมีคุณภาพสู่ประชาชน”
การอบรมการผลิตยาสมุนไพรให้มีคุณภาพ
รศ.ดร.นพมาศกล่าวถึงยุทธศาสตร์สุดท้ายที่ถือว่ายากที่สุดแต่ก็ได้ผลดีกว่าที่คิดเอาไว้ก็คือ การอบรมให้ความรู้ด้านสมุนไพรแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

“คนกลุ่มนี้ถูกสอนมาแบบวิทยาศาสตร์ คือให้เชื่อเหตุผล เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ได้ ดังนั้นการจะทำให้เขาเชื่อถือ เราต้องมีผลการศึกษาวิจัยไปให้เขาเห็น เป็นส่วนที่ยากที่สุด เราเปิดอบรม 3 ครั้ง แบ่งเป็นภาคๆ คือภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคตะวันออก เราอบรมที่โคราช และภาคกลางกับภาคใต้เราไปอบรมกับที่สุราษฎร์ฯ และเราจะมีปิดงานกันที่ม.มหิดลอีกครั้งหนึ่ง เท่าที่ไปอบรมเราชื่นใจมาก เราไม่เคยคิดว่าหมอหนุ่มๆ สาวๆ อายุน้อยๆ จะมาบอกเราว่าเขาชื่นชมสิ่งที่เรากำลังทำและได้ประโยชน์จากการอบรม หลายคนบอกว่าทัศนคติต่อยาสมุนไพรเปิดกว้างขึ้นและตั้งใจจะเริ่มสั่งยาสมุนไพรให้คนไข้มากขึ้น”

รศ.ดร.นพมาศกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า แม้ผลการทำงานในครั้งนี้จะไม่สามารถวัดออกมาเป็นค่าที่แน่นอนได้ในระยะเริ่มต้น เนื่องจากทัศนคติเป็นเรื่องของนามธรรม แต่ก็ถือเป็น “ก้าวแรกที่เป็นเรื่องเป็นราว” ในการยกระดับและพัฒนาวงการยาสมุนไพรไทย โดยหวังว่าเมื่อความเชื่อถือและความนิยมใน “ทางเลือก” ของ “ยาสมุนไพร” มามากขึ้น จะส่งผลให้ยาสมุนไพรไทยและภูมิปัญญาที่ส่งต่อมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ “อยู่ได้” ท่ามกลางการแข่งขันในเชิงการค้าที่มีอยู่สูงมากในเวทีการค้าอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น