xs
xsm
sm
md
lg

"ทีดีอาร์ไอ" ชี้ ข้อตกลงอาฟตา ไม่กระทบไทย แม้ 6 ประเทศประกาศลดเพดานภาษีสินค้า 0%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รองปธ."ทีดีอาร์ไอ" ชี้ เขตการค้าเสรี ไม่ส่งผลกระทบไทย เชื่อ ข้อตกลง 6 ประเทศสมาชิกต้องกดเพดานภาษีเหลือ 0% ไม่ได้เป็นวิกฤตและโอกาส เตือน รัฐจับตาสินค้านำเข้าใกล้ชิด หวั่น โดนลักไก่ ซุกซ่อนของด้อยคุณภาพเข้าไทย ด้าน "อลงกรณ์" ย้ำ ลดเพดานภาษี 0% สินค้า 8,300 รายการ เป็นไปตามข้อตกลงอาฟตา โดย 4 ประเทศอาเซียนน้องใหม่ ต้องก้มหน้ายอมรับข้อตกลง อีก 5 ปีข้างหน้า จึงได้รับสิทธิ์ลดกำแพงภาษีเหลือ 0%

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "รู้ทันประเทศไทย"

รายการ “รู้ทันประเทศไทย” ออกอากาศทาง เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.30-20.00 น. โดยในวันจันทร์ที่ 4 ม.ค. มี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายแสงธรรม ชุนชฎาธาร เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งวันนี้ได้มีการเชิญ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และสัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ อ.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอารไอ) มาร่วมพูดคุยถึงประเด็นเขตการค้าเสรีอาเซียน ถือเป็นวิกฤตหรือโอกาสของประเทศไทย

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือที่เรียกกันว่า ASEAN Free Trade Area (AFTA) ถือเป็นความตกลงกันของประเทศสมาชิกที่มีวัตถุประสงค์ในการลดกำแพงภาษี เพื่อขจัดอุปสรรรคในการทำการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ อาฟตา มีมานานถึง 17 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2535 โดยไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นสมัยรัฐบาลชุดนี้แต่อย่างใด โดยจากเดิมมี 6 ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเท่าเทียมกันมารวมตัวกัน ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปิสน์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน จากนั้น ก็มีอีก 4 ประเทศมาร่วมอีกทีหลัง ก็คือ เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ซึ่งกลุ่มนี้ถูกเรียกว่าอาเซียนใหม่ เนื่องจากมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกับ 6 ประเทศสมาชิกเดิม

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อตกลงของอาฟตา ประเทศที่เป็นสมาชิกจะมีการตกลงกันว่า สินค้าประเภทใดบ้างที่จะได้รับการลดกำแพงภาษี โดยมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจะทำการลดกี่เปอร์เซนต์ ซึ่งตั้งแต่ต้นในปี 2553 ที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดว่า 6 ประเทศแรกที่เป็นสมาชิกเดิม จะต้องลดกำแพงภาษีสินค้าอยู่ที่ 0 % โดยมีจำนวนสินค้าทั้งหมด 8,300 รายการ ส่วนในอีก 4 ประเทศน้องใหม่ ที่เพิ่งเป็นสมาชิก หรือเรียกกลุ่มอาเซียนใหม่ ก็ต้องใช้เวลาปรับตัวอีกหลายปี กว่าจะได้รับสิทธิ์ในการลดกำแพงภาษีเหลือ 0% ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2558

"ไทยก้าวมาสู่จุดนี้ได้ ถือเป็นความสำเร็จ เพราะสินค้าที่ส่งไปในประเทศที่เป็นสมาชิก มีการตั้งภาษีกำแพงเป็นศูนย์ ดังนั้น ประเทศอื่นที่ไม่ใช่สมาชิก จะไม่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียนใหม่ ไทยก็ให้สิทธิ์พิเศษบางอย่าง ในฐานะที่เป็นสมาชิกด้วย โดยในฐานะที่ 4ประเทศเข้ามาเป็นสมาชิกที่หลัง อีกทั้ง ฐานะทางเศรษฐกิจยังไม่ได้เท่าเทียมกับไทย ก็ต้องยอมรับข้อตกลง ที่ระบุว่าอีก 5 ปีข้างหน้า จึงได้รับสิทธิ์พิเศษดังกล่าวเต็มที่ เสมือนว่าเป็นประเทศเดียวกันกับไทยในด้านการค้า คือ ไม่ว่าจะนำเข้าหรือส่งออก ก็จะปลอดกำแพงภาษี" นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกครั้งให้ชัดเจนว่า หาก 4 ประเทศดังกล่าวส่งสินค้าเข้ามาในไทย จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0-5% แต่ถ้าหากไทยส่งสินค้าไปยัง 4 ประเทศ ได้มีการตกลงกันว่า ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกมาก่อน สามารถส่งสินค้าไปได้ โดยไม่ต้องเสียภาษี หรือประเทศนั้น จะต้องตั้งกำแพงกับไทยอยู่ที่ 0 % ซึ่งก็เหมือนกับเวลาที่ไทยทำธุรกิจกับสหรัฐฯ ในฐานะที่ไทยด้อยทางเศรษฐกิจกว่า ถ้าหากจะทำธุรกิจร่วมกัน ก็ต้องยอมรับข้อตกลงในการจ่ายภาษีให้สหรัฐฯ โดยในทางกลับกัน หากสหรัฐฯ ส่งสินค้ามาที่ไทย ก็จะไม่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าว ตนไม่คิดว่าจะเป็นการเสียเปรียบ เพราะแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันในด้านการผลิต อีกทั้ง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการเห็นพ้องร่วมกัน

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้สินค้าที่ไทยได้เปรียบประเทศอื่น คือ สินค้าด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะรถยนต์ เม็ดพลาสติก รวมทั้งข้าว ซึ่งตรงนี้ไทยถือเป็นแชมป์โลกอยู่ในด้านการผลิต เนื่องจากมีศักยภาพการผลิตและคุณภาพสินค้าที่สูง แต่อีกด้านไทย ก็มีจุดอ่อน หรือสินค้าบางรายการที่สู้ประเทศอื่นไม่ได้ โดยเรื่องนี้ ไทยก็ได้มีการจัดหามาตรการรองรับ ซึ่งหากสินค้าประเภทใดที่ไทยสมควรนำเข้ามากกว่าผลิตเอง ก็จะต้องมีขั้นตอนและปริมาณการนำเข้าที่ชัดเจน จะไม่มีการปล่อยให้สินค้าล้นทะลักเข้าสู่ตลาด ทั้งนี้ จะมีการตรวจด้านสุขอนามัยหรือตรวจเอ็มจีโอ ดังนั้น เรื่องนี้ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากไทยมีมาตรการเซฟการ์ด ที่จะระบุไว้ชัดเจนว่า จะนำเข้าปริมาณเท่าไหร่ โดยมีการตั้งด่านตรวจสอบ

ส่วนประเด็นในอนาคตไทยจะขาดดุล เนื่องจากจะผลิตสินค้าในประเทศไม่ได้เอง ดังนั้น จะต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ นายอลงกรณ์ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ตนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเอาแค่ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกดังกล่าว ก็ถือว่า มีอภิสิทธิ์ ในการส่งออกหรือนำเข้า หรือในอนาคตอาจจะเป็นไปได้ที่ไทยต้องอาศัยการนำเข้า แต่เป็นการนำเข้า เพื่อนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

ช่วงต่อมา มีการสัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถึงประเด็นความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ในการที่ไทยจะเปิดเขตการค้าเสรี ว่า การลดภาษีเป็น 0% ให้แก่สมาชิกอาฟต้า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้คนอยากรู้มากที่สุด คือ การทำเช่นนี้จะถือเป็นวิกฤตหรือโอกาสกับไทย ซึ่งคำตอบก็คือ ไม่ได้เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นข้อตกลงที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก เพราะการลดกำแพงภาษีเหลือ 0% ในสินค้าจำนวน 8,300 รายการ ก็ถือเป็นการเพิ่มน้ำหนักในการเอื้อประโยชน์ทำการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น สิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือ จำนวนสินค้าที่มีการลดภาษีเป็น 0% แต่เรื่องนี้ อาจจะทำให้รัฐบาลเสียเปรียบด้านการเก็บภาษีกับสมาชิกบางประเทศ ที่จากเดิมต้องนำเข้าสินค้าไทยอยู่แล้ว แทนที่ไทยจะเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็กลับต้องมาละเว้น เพราะข้อตกลงดังกล่าว

อ.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่รัฐบาลต้องระวัง คือ การปลอมแปลงสินค้า เพราะข้อตกลงอาฟตา ระบุว่า สินค้าของประเทศสมาชิกที่ส่งเข้ามา จำเป็นต้องผลิตในประเทศสมาชิก 100% ดังนั้น เรื่องนี้ อาจมีการสอดไส้หรือปลอมแปลงสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพเข้ามาในไทย โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร รัฐบาลต้องจับตาดูให้ดีๆ เนื่องจากตรวจสอบสัญชาติสินค้าได้ยาก หากปลอมแปลงหรือเจือปนไปแล้ว อาจคัดแยกลำบาก


กำลังโหลดความคิดเห็น