xs
xsm
sm
md
lg

“หมอไพจิตร์” เตรียมแจงนายกฯ ยันไม่โกงไทยเข้มแข็ง ส่วน “เรวัติ” อโหสิคนใส่ร้ายส่อแววทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอไพจิตร์” เตรียมนำทีม ขรก.สธ.ขอเข้าพบนายกฯ แจงไทยเข้มแข็ง สธ. มอบสมุดปกขาว ยันไม่โกง พร้อมขอเวลาทำงานทบทวนโครงการใหม่ทั้งหมด ขณะที่อธิบดีกรมการแพทย์ฉุนผลสอบไม่เป็นธรรม แต่อโหสิกรรมให้ ด้านผู้ตรวจราชการเขต 6 รับ ขอบริจาคเงินโรงพยาบาลซื้อรถตู้โฟล์คคันละ 3 ล้านบาทจริง แต่ไม่ได้ซื้อให้ “วิทยา”  
 

จากกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็งของ สธ.ที่มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน ได้สรุปผลการสอบสวนพบว่า มีรัฐมนตรี และข้าราชการระดับสูงของ สธ.รวม 12 รายมีพฤติกรรมส่อทุจริต และบกพร่องต่อหน้าที่ โดบแบ่งเป็นข้าราชการการเมือง 4 รายและข้าราชการประจำทั้งที่เกษียณและยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ 8 รายนั้น
 

วันที่ 29 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งรองปลัด อธิบดี ผู้ตรวจราชการ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการแก้ปัญหาการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งของ สธ.  โดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง
 

โดย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า ยืนยันว่าการดำเนินการโครงการไทยเข้มแข็งทุกมีหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นขั้นเป็นตอน และยังไม่มีการก่อหนี้ผูกผันแม้แต่บาทเดียว ซึ่งรายการสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ 7,000 กว่ารายการ ที่มีปัญหามีเพียง 10 รายการ และก่อนหน้านี้มีคำสั่งชะลอการจัดซื้อจัดจ้างโครงการไทยเข้มแข็งตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน อย่างไรก็ตามขอน้อมรับรายละเอียดและข้อเสนอจากผลการสอบสวนของคณะกรรมการฯชุดนพ.บรรลุ เพื่อนำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีข้อกล่าวหารายบุคคลจะให้ความเป็นธรรม โดยให้ชี้แจงเหตุผลในแต่ละบุคคล ทั้งนี้จะหารือกับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจะเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว โดยนำสมุดปกข่าว ซึ่งเป็นเอกสารชี้แจงข้อมูลในการดำเนินโครงการทั้งหมด ที่ได้จัดทำขึ้นก่อนที่ผลสรุปการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ซึ่งยังไม่มีการกำหนดวันเวลา เพราะต้องขึ้นอยู่กับภาระงานของนายกฯว่าท่านจะว่างเมื่อใด
 

“เหตุที่ต้องขอเข้าหารือกับนายกฯ เนื่องจากต้องการชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นในส่วนของ สธ.ว่าเป็นอย่างไร มีกระบวนการในการทำงานอย่างไร โดยจะมีการทบทวนโครงการไทยเข้มแข็งในส่วนของ สธ.ใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้มีการสรุปทบทวนไปแล้วครั้งหนึ่ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเข้าพบนายกฯเพื่อขอระยะเวลาในการจัดทำแผนและทบทวนโครงการดังกล่าวใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในส่วนของข้าราชการที่เกษียณไปแล้วนั้นก็จะเชิญให้ไปเข้าพบนายกฯ พร้อมกัน”นพ.ไพจิตร์ กล่าว
 
 นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้การทบทวนโครงการไทยเข้มแข็งใหม่ทั้งหมดจะต้องดำเนินการใน  2 ส่วน คือ 1.การมีแบบแผนในการพัฒนาระบบบริการที่ชัดเจน 2.การทำแผนจะต้องมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อที่จะสามารถตอบเหตุผลและความต้องการได้อย่างชัดเจน โปร่งใส โดยส่วนร่วมนั้นจะต้องมีตัวแทนมาจากทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง หรือแม้แต่ชมรมแพทย์ชนบท
 
“โครงการไทยเข้มแข็งของ สธ.เกิดจากความปรารถนาดีที่ต้องการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดแคลนมาเกือบ 10 ปี ซึ่งการออกแบบโครงการคำนึงถึงความขาดแคลนในทุกระดับ และเชื่อมโยงตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรและสิ่งสนับสนุนต่างๆ ล้วนมาจากความต้องการในพื้นที่เสนอผ่านจังหวัด ผ่านเขตตรวจราชการของ สธ.มายังเจ้าของโครงการ และส่งผ่านไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงการคลัง จึงผ่านมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบวงเงิน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการก่อหนี้ผูกพันแม้แต่รายการเดียว”นพ.ไพจิตร์ กล่าว
 

นพ.ไพจิตร์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่คณะกรรมการฯพิจารณาว่า ตนเองไม่ทุจริต แต่บกพร่องในฐานะรองปลัดที่ดูแลสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค (สบภ.) นั้น ที่ผ่านมาผมไม่ก้าวก่ายการทำงาน เพราะในช่วงสมัยเป็นรองปลัด อดีตปลัดไม่ได้มอบหมายให้ทำ ทั้งๆที่สบภ.เป็นส่วนที่ตนดูแล ด้วยความเป็นสุภาพบุรุษพอจึงไม่พูดอะไรให้เกิดความเสียหาย แต่วันนี้ที่ต้องออกมาพูดเนื่องจากปกป้องศักดิ์ศรีของตนเอง และไม่เคยคิดให้ร้ายใครเพราะพูดแต่ความจริง
 
ด้าน นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ หนึ่งในข้าราชการที่ถูกระบุว่ามีพฤติกรรมส่อความไม่สุจริต เปิดโอกาสให้แสงหาผลประโยชน์จากการตั้งราคางบประมาณครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ราคาแพงกว่าปกติ กล่าวว่า ไม่คาดคิดว่าจะมีเรื่องของกรมการแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้องการทุจริตด้วย ซึ่งการจัดทำงบประมาณทุกอย่างเป็นไปตามระบบ มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นผู้เสนอของบประมาณเอง ไม่มีรายการครุภัณฑ์ใดที่กรมการแพทย์ร้องขอโดยที่พื้นที่ไม่ต้องการ ส่วนปัญหาเรื่องราคาครุภัณฑ์ของสถาบันมะเร็ง มีราคาแพงกว่าของโรงพยาบาลสังกัดอื่นนั้น ตนไม่สามมารถอธิบายได้เพราะถือเป็นเรื่องทางเทคนิกต้องถามผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

“ขออโหสิกรรม ผู้ซึ่งพูดให้ร้ายผู้บริสุทธิ์ทุกๆ คน ยืนยันว่ายังไม่ทำอะไรไม่สุจริต ผลสอบที่อกมาถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งที่จะถูกกล่าวหาว่าส่อทุจริต ซื้อเครื่องมือแพทย์ราคาแพง ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการใช้เงินสักบาทเดียว ผมได้เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการฯ ชุด นพ.บรรลุ เป็นประธาน นานถึง 3 ชั่วโมง รองอธิบดีกรมการแพทย์อีก 3 ชั่วโมง และผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งให้ข้อมูลอีก 5 ชั่วโมงและร่วมรับประทานอาหารด้วย คณะกรรมการฯ ยังบอกอีกว่าไม่มีปัญหาอะไร ทุกคนให้ข้อมูลที่ดีมากจึงคิดว่าคณะกรรมการฯ น่าจะเข้าใจ แต่สุดท้ายก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี” นพ.เรวัติ กล่าว
 
 ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เหตุใดคณะกรรมการฯ จึงยังติดสินว่ามีความผิดอีก นพ.เรวัติ กล่าวว่า อ่านใจคณะกรรมการฯ ไม่ออก ไม่อยากวิจารณ์ แต่ไม่เคยมีปัญหาอะไรกันมาก่อน ซึ่งตนพูดความจริงไม่ได้กลัวกระแส ทั้งตนและปลัด สธ.มีต้นทุนสูง ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยหรือเสียหายมาก่อน
นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
 
 นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุที่ครุภัณฑ์การแพทย์ที่สถาบันมะเร็งฯ เสนอขอจัดซื้อมีราคาแพง เนื่องจากเครื่องมือแต่ละชิ้นเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งในการจัดทำงบประมาณกรอกแต่ชื่ออุปกรณ์สั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้พ่วงอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม จึงทำให้ดูเหมือนว่าสถาบันมะเร็งฯ จัดซื้อเครื่องมือทั่วไปที่โรงพยาบาลต่างๆ เคยจัดซื้อไว้ราคาถูก ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ เช่น เครื่องใส่แร่อัตโนมัติปริมาณรังสีสูง ที่จริงแล้ว มีชุดอุปกรณ์พ่วงด้วย ซึ่งปัญหาจุดนี้ได้เรียนให้คณะกรรมการฯ ทราบแล้ว
 

นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 6 หนึ่งในข้าราชการที่ถูกระบุว่าบกพร่องต่อหน้าที่ เรื่องจัดซื้อยูวีแฟน และเรี่ยไรเงินจากโรงพยาบาลจัดซื้อรถตู้โฟล์คสวาเกนให้นายวิทยา กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ท่านหนึ่งได้เคยถามตนว่า ตนสั่งให้ซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยแสงอัลตราไวโอเลตแบบระบบปิด (ยูวีแฟน) จริงหรือไม่ ซึ่งตนชี้แจงแล้วว่า ช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตนมีนโยบายให้เขตสาธารณสุข 6 ที่ตนดูแลอยู่ว่าต้องไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ไม่ได้สั่งว่าจะต้องซื้อเครื่องมือใดเป็นพิเศษ  และงบประมาณที่โรงพยาบาลจัดซื้อยูวี แฟน ก็ไม่ได้ใช้งบของโครงการไทยเข้มแข็งด้วย ก็ยังสงสัยอยู่ว่ามีชื่อตนเกี่ยวข้องได้อย่างไร
 
“ส่วนเรื่องซื้อรถตู้นั้น ยอมรับว่าผมได้ขอรับบริจาคเงินบำรุงจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเขตสาธารณสุข 6 จริง โดยได้เงินจากโรงพยาบาล 5 แห่ง เป็นจำนวน 3 ล้านบาท ก็นำไปซื้อรถตู้โฟล์คสวาเกนสีดำ แต่ไม่ได้บีบบังคับใครให้ต้องบริจาคเงิน รถที่ซื้อมาก็ไว้นำไปใช้กับทุกโรงพยาบาลไม่ได้ไว้ประจำที่ใดที่หนึ่ง ไม่ได้ซื้อให้นายวิทยาใช้เพียงคนเดียว ส่วนสาเหตุที่ต้องซื้อรถตู้เพราะผมเห็นว่าพื้นที่หลายจังหวัดที่ตนดูแล ต้องรับเสด็จบ่อยครั้ง และมีผู้ใหญ่ลงพื้นที่เป็นประจำ จึงต้องการรถที่มีคุณภาพดี ใช้ความเร็วได้ รถที่มีอยู่เก่ามากตามขบวนไม่เคยกัน เสียบ้าง ยางแตกบ้าง” นพ.จักรกฤษณ์ กล่าว
 
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) หนึ่งในผู้ถูกระบุความผิดบกพร่องต่อหน้าที่เรื่องการจัดทำงบประมาณ  กล่าวว่า บทบาทของสนย. รับผิดชอบเฉพาะการเสนอของบประมาณจากรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งมีการจัดทำงบประมาณตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี สนย. ออกแบบหลักการในภาพรวม แต่ไม่ได้ทำเชิงรายละเอียดเพราะมีหน่วยงานต่างๆ เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบงบประมาณแต่ละด้านอยู่แล้ว
 
 “สนย.ไม่อาจรู้รายละเอียดได้ว่าอะไรแพงกว่ากัน อะไรถูกกว่ากัน ผมกลับนึกว่าได้เป็นฮีโร่เสียอีกที่สามารถของบให้กับ สธ.ได้มากถึง 8.6 หมื่นล้านบาท สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าบั่นทอนกำลังใจคนทำงานพอสมควร และหวังว่าสังคมจะให้กำลังใจพวกเรา” นพ.ศุภกิจ กล่าว

รองปลัดระบุปัญหาไทยเข้มแข็งแค่ความเห็นไม่ตรงกัน แนะเปิดใจกว้างรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ไม่สุดโต่ง

ด้าน นพ.สถาพร วงศ์เจริญ รองปลัด สธ.กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขเกิดจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ดังนั้น ควรที่จะใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ทุกคน ไม่ใช่สุดโต่งจนเกินไป โดยเฉพาะประเด็นการกระจุกตัวของงบประมาณ เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่างบประมาณไม่ได้กระจายไปยังอำเภอรอบนอกแต่อยู่ภายในจังหวัด ซึ่งความเป็นจริงแล้ว สถานบริการทุกระดับไม่ได้รับการพัฒนาเหมือนกันหมด แต่ภาระหน้าที่โรงพยาบาลจังหวัดมีผู้ป่วยแน่นแออัดมาก แต่เครื่องมืออุปกรณ์กลับชำรุดทรุดโทรมจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ไม่ได้เป็นการพัฒนาโรงพยาบาลระดับจังหวัดมากไป แต่ได้ผ่านการวิเคราะห์ให้การพัฒนาโรงพยาบาลทุกระดับมีความสมดุลกัน
 
 “หากเจ็บป่วยรุนแรงก็ต้องส่งต่อมายังโรงพยาบาลจังหวัด ถามว่าอยากให้มีที่ว่างหรือมีศักยภาพในการรองรับไม่ ไม่ใช่จากโรงพยาบาลชุมชนแล้วต้องส่งไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ อย่างโรงพยาบาลศิริราชเลย ดังนั้นต้องใจกว้าง มองภาพกว้างไม่ใช่ใครมองไม่เหมือนกันกับเราไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของใครคนเดียวหรือแค่กลุ่มคนเล็ก ซึ่งในทุกองค์กรมีผู้ที่ตัดสินใจและรับผิดชอบในการตัดสินใจ”นพ.สถาพร กล่าว

เมื่อถามว่า หมายถึงคณะกรรมการฯ เหมือนรับฟังข้อมูลแต่ไม่ฟังหรือไม่ นพ.สถาพร กล่าวว่า ไม่ได้หมายถึงคณะกรรมการฯ ชุด นพ.บรรลุ แต่ถ้าเป็นตนจะฟังความเห็นทุกคน
กำลังโหลดความคิดเห็น