xs
xsm
sm
md
lg

เสี่ยเต๊นท์รถแจ้งจับหลักทรัพย์ชื่อดังปลอมลายเซ็นซื้อหุ้น 14 ล.ไม่แจ้ง!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายนิรุธ ปิณฑะรุจิ อายุ 39 ปี เจ้าของศูนย์รวมรถยนต์ออโต้เวิร์ด เต้นท์รถมือสองย่านสี่แยกแครายร้องทุกข์กรณีถูกเจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์ชื่อดังแห่งหนึ่งทุจริตโดยเชื่อว่ามีการปลอมลายมือชื่อเพื่อนำบัญชีมาร์จิ้น (Margin) หรือบัญชีเครดิตบาลาซ (Credit Balance) มูลค่า 3-4 ล้านบาทไปซื้อขายหุ้นบริษัทต่างๆ รวม 61 รายการ มูลค่าซื้อขายกว่า 14 ล้านบาท
เจ้าของเต๊นท์รถมือสอง ร้องกองปราบถูกเจ้าหน้าที่ บ.หลักทรัพย์ชื่อดัง ปลอมลายมือชื่อนำบัญชีมาร์จิ้น ไปซื้อขายหุ้นจากบริษัทต่างๆกว่า 14 ล้านบาท โดยที่เจ้าของไม่รู้ ผู้เสียหาย เผย ต้องการความรับผิดชอบแม้บริษัทเสนอเงินชดใช้ แถมท้าให้ไปฟ้องร้อง อ้างที่ไหนก็ทำกัน

วันนี้ ( 3 ก.ค.) ที่ กองปราบปราม เมื่อเวลา 11.00 น. นายนิรุธ ปิณฑะรุจิ อายุ 39 ปี เจ้าของศูนย์รวมรถยนต์ออโต้เวิร์ด เต้นท์รถมือสองย่านสี่แยกแคราย และกรรมการผู้จัดการบริษัท พี.อาร์.มาเก็ตติ้ง แอนด์ แอซโซซิเอท จำกัด เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.ไกรทอง โพธิ์ตาด พนักงานสอบสวน (สบ1) กก.1 บก.ป. เพื่อร้องทุกข์กรณีถูกเจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์ชื่อดังแห่งหนึ่งทุจริตโดยเชื่อว่ามีการปลอมลายมือชื่อเพื่อนำบัญชีมาร์จิ้น (Margin) หรือบัญชีเครดิตบาลาซ (Credit Balance) มูลค่า 3-4 ล้านบาทไปซื้อขายหุ้นบริษัทต่างๆ รวม 61 รายการ มูลค่าซื้อขายกว่า 14 ล้านบาท เหตุเกิดเมื่อเดือน ธ.ค.2551-ก.พ.2552 แต่เมื่อพนักงานสอบสวนพิจารณาในรายละเอียดรวมทั้งข้อกฎหมายแล้วได้แนะนำให้นายนิรุธเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปศท.ซึ่งรับผิดชอบคดีทางเศรษฐกิจโดยตรง

นายนิรุธ กล่าวว่า ทำธุรกิจเต๊นท์รถอยู่แถวสี่แยกแคราย และรับซื้อขายที่ดิน ต่อมาเมื่อเดือน พ.ค.2551 ได้นำเงินประมาณ 3-4 ล้านบาทมาลงทุนในตลาดหุ้นเพราะได้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก และรัฐบาลให้การสนับสนุนว่ามีความโปร่งใส โดยซื้อหุ้นประเภทธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน ระหว่างนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดหรือโบรกเกอร์ บริษัทหลักทรัพย์ชื่อดังแห่งหนึ่งชักชวนให้นำหุ้นที่มีอยู่มาจำนำเพื่อเปิดบัญชี credit balance หรือที่เรียกว่าบัญชี Margin ซึ่งเหมือนกับตนมีเครดิตวงเงิน 3-4 ล้านบาทไว้ซื้อขายหุ้น

นายนิรุธ กล่าวต่อว่า หลังจากเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วตนก็นำไปซื้อขายหุ้นตามปกติ โดยโทรสั่งซื้อผ่านเจ้าหน้าที่บริษัทแห่งนี้ และนานๆครั้งจะดูผลการซื้อขายผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ ช่วงแรกตนก็สังเกตพบความผิดปกติ เช่น ซื้อหุ้นตัวหนึ่ง 5,000 หุ้นแต่ตัวเลขที่แสดงหน้าจอกลับเป็น 10,000 หุ้นจึงโทรไปถามเจ้าหน้าที่ก็ได้รับแจ้งว่า เป็นความผิดพลาดและมีการแก้ไขข้อมูลให้จึงไม่เอะใจอะไร แต่ 3 เดือนให้หลังคือประมาณเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาก็จับได้ว่า มีการทุจริตโดยนำวงเงินของตนไปซื้อขายหุ้น จำนวน 61 รายการ มูลค่าซื้อขายกว่า 14 ล้านบาท โดยที่ตนไม่ทราบเรื่องมาก่อน นอกจากนี้ยังมีการปลอมลายมือชื่อตนในเอกสารการซื้อขายหุ้นบางส่วนด้วย

นายนิรุธ กล่าวอีกว่า เมื่อทราบเรื่องก็ทวงถามความรับผิดชอบจากบริษัทเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่นำเงินของลูกค้าไปซื้อขายหุ้นเพราะทุกครั้งที่มีการซื้อขายคนที่เสียประโยชน์คือตนเพราะต้องเสียค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหุ้นแต่ละครั้งให้กับบริษัท แต่เมื่อตามเรื่องไปก็ไม่มีความคืบหน้า หนำซ้ำยังมีผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการเข้ามาเจรจากับตนโดยอ้างว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติที่บริษัทหลักทรัพย์อื่นๆก็ทำกัน พร้อมกับนำเอกสารยอมความให้ตนลงลายมือชื่อ นอกจากนี้ยังมีการเสนอจะชดใช้เงินให้ 30,000-40,000 บาทด้วยแต่ตนไม่ยอมรับ หลังจากนั้นก็มีรองซีอีโอของบริษัทคนหนึ่งเรียกให้เข้าไปพบแต่บริษัทก็ยังไม่รับผิดชอบ พร้อมกับท้าให้ไปฟ้องร้องเพราะทางบริษัทเตรียมตั้งรับไว้แล้ว แต่เมื่อถูกปฏิเสธความรับผิดชอบจากบริษัทตนจึงนำเรื่องไปร้องเรียนบริษัทดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา และทำหนังสือทวงถามความคืบหน้าอีกครั้งเมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ทาง กลต.ก็แจ้งกลับมาว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพราะมีเรื่องร้องเรียนลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ระหว่างที่ กลต.ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวก็มีการนัดตนกับตัวแทนบริษัทมาเจรจาแต่ทุกครั้งที่พบกันก็เป็นเพียงแค่การมารับคำร้องเท่านั้น

“ที่ต้องออกมาเดินทางร้องเรียนเพราะต้องการรักษาสิทธิของตัวเองและอยากให้เป็นการเตือนประชาชนที่ซื้อขายหุ้นให้ระวังพฤติกรรมของบริษัทหลักทรัพย์เหล่านี้เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อการทุจริตทำยอดเข้าบริษัททำให้เห็นว่าบริษัทนี้มีลูกค้าซื้อขายหุ้นเป็นจำนวนมาก แต่จริงๆแล้วเป็นการสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศไม่ต่างจากการปั่นหุ้นทำให้ไม่รู้ว่า ตัวเลขการซื้อขายที่แท้จริงเป็นอย่างไร และที่สำคัญบริษัทแห่งนี้มีกระทรวงการคลัง และธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งถือหุ้นใหญ่แต่ผู้บริหารบริษัทกลับพูดว่าใครๆก็ทำแบบนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า ตลาดหุ้นบ้านเราไม่โปร่งใส มีการทุจริตมากมายขนาดนี้เลยหรือ” นายนิรุธ กล่าว

นายนิรุธ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากร้องเรียนต่อ กลต.แล้วยังเข้าแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน กรณีที่มีการปลอมลายมือชื่อตนในเอกสาร แต่หลังจากที่ร้องเรียนหน่วยงานต่างๆไปจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด โดยเฉพาะกับบริษัทคู่กรณีนั้นได้แต่นิ่งเฉยไม่ยอมดำเนินการใดๆแม้แต่จะขอสำเนาเอกสารหรือขอเทปบันทึกเสียงการสนทนาเวลาสั่งซื้อขายหุ้นก็ถูกบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้ ซึ่งตนเกรงว่าจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตเพราะเทปบันทึกเสียงนั้นมีเงื่อนไขเก็บรักษาแค่ 3 เดือนหลังจากนั้นจะถูกลบทิ้งซึ่งตรงนี้จะเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าตนได้สั่งซื้อหุ้นตัวใดไปบ้างและตัวใดที่ไม่ได้ซื้อแต่บริษัทแอบเอาไปทำเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นนายนิรุธได้ลงทุนเปิดเว็บไซต์ชื่อ www.trick-by-acl.com เพื่อใช้เป็นสื่อเผยแพร่เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างนายนิรุธกับบริษัทหลักทรัพย์แห่งนี้ นอกจากนี้ยังลงทุนซื้อรถตู้มือสองมาติดตั้งเครื่องขยายเสียง และป้ายพลาสติกระบุข้อความถึงนักลงทุนทุกคนให้ติดตามความขี้โกง ไร้จรรยาบรรณของบริษัทหลักทรัพย์ ธนาคาร และผู้บริหารระดับสูง ได้ที่เว็บไซต์ดังกล่าว โดยนายนิรุธเปรยว่าเตรียมจะนำรถตู้คันนี้ไปจอดหน้าบริษัทคู่กรณีเพื่อป่าวประกาศเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้สาธารณชนทราบ


กำลังโหลดความคิดเห็น