อสม.โวยปีงบประมาณ 53 ยังไม่ได้รับค่าตอบแทน 600 บาทต่อเดือน สักบาทเดียว เหตุอบจ.อยากจ่ายเงินเอง ไม่ต้องผ่านสสจ.หวังได้คะแนนเสียง “วิทยา” ยันเงินงบประมาณรัฐ7 พันล้านบาทจ่ายไป อปท.หมดแล้ว ด้าน “บุญจง” ทำหนังสือด่วนที่สุดเร่ง อบจ.เบิกจ่าย เดือน ม.ค.ชี้ชะตา อสม.จะยังอยู่กับ สธ.หรือ อปท.เหตุต้องพึ่งพิงงบฯ ทำงานร่วมกัน
นายไพฑูรย์ บุญอารักษ์ ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2553 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 จนถึงปัจจุบัน อสม.เกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศยังไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนอสม.เดือนละ 600 บาท เนื่องจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต้องการที่จะจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับอสม.ด้วยตนเอง แต่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาให้ดำเนินการจ่ายเงินตามรูปแบบเดิม คือ ให้ อบจ.โอนเงินให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นผู้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณไปยังระดับอำเภอ เพื่อจ่ายค่าตอบแทนให้กับอสม. แต่จนถึงขณะนี้อบจ.หลายพื้นที่ก็ยังไม่ยอมโอนเงินส่วนนี้ทำให้ อสม.ยังไม่ได้รัยค่าตอบแทน
“อบจ.ต้องการจ่ายเงินค่าตอบแทนถึงมืออสม.ด้วยตนเอง เพราะต้องการหาเสียงอย่างเดียว ไม่ได้คำนึงว่า อสม.แต่ละจังหวัดมีเป็นหมื่นหาก อบจ.ดำเนินการจ่ายจะยุ่งยากเพียงใด ที่สำคัญ การที่ อสม.ได้รับเงินจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงในการทำงาน จะเกิดการปรึกษาหารือและสั่งงานให้ทำด้วย แต่ อบจ.รับรู้เฉพาะเรื่องการหาเสียงไม่รู้เรื่องงาน”นายไพฑูรย์กล่าว
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เบื้องต้นทราบจากนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ว่าเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2552 ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง การดำเนินงานโครงการส่งเสริม อสม.เชิงรุก ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้เร่งรัดและกำชับ อบจ.ดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ อสม.ที่มีสิทธิ จึงเชื่อมั่นว่า อสม.จะได้รับค่าตอบแทนของปีงบประมาณ 2553ในเร็วๆนี้ แต่หากอบจ.ไม่ดำเนินการตามคำสั่ง ก็เป็นเรื่องภายในของมท.ที่จะต้องดำเนินการจัดการแก้ปัญหาต่อไป
นายวิทยากล่าวต่อว่า ในการดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับ อสม. รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณผ่านไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มท. ก่อนจัดสรรต่อไปยัง อบจ.ทั่วประเทศ เพื่อให้จัดสรรให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นำไปจ่ายให้กับ อสม.ต่อไป ซึ่งในปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณส่วนนี้จำนวนประมาณ 7 พันล้านบาทไปหมดแล้ว และทราบว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ดำเนินการจัดสรรให้กับ อบจ.ทั้งหมดแล้ว
“ยืนยันว่าเงินงบประมาณส่วนนี้รัฐบาลจัดสรรไปแล้ว โดยงบนี้รัฐบาลตั้งว่าเป็นค่าตอบแทนอสม.โอนไว้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่สามารถนำไปทำอย่างอื่นได้ และทำความตกลงว่า อปท.จะโอนให้ สธ.ผ่านระดับจังหวัด เพื่อ สธ.โอนผ่านไประดับตำบลในการจ่ายค่าตอบแทนให้ อสม. ซึ่งเราไม่สามารถโอนเข้าบัญชีธนาคารได้เพราะว่า อสม.ทุกคนมีภารกิจต้องไปที่สถานีอนามัยทุกเดือนอยู่แล้ว และเชื่อว่าเมื่อมท.มีหนังสือกำชับไปยังอบจ.เช่นนี้จะทำให้ อสม.ได้รับเงินค่าตอบแทนโดยเร็วที่สุด แต่หากพื้นที่ใดไม่ได้รับก็เป็นเรื่องภายในของ มท.ที่จะต้องดำเนินการจัดการ” นายวิทยากล่าว
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันอสม.ทุกคนยังรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่รู้หน่วยงานใดดูแลอสม.จริงๆ จึงจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ระหว่าง สธ.และ อสม. ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ชัดเจน เพื่อให้การทำงานเชิงรุกด้านการส่งเสริมสุขภาพประชาชนเกิดขึ้นจริงไม่ใช่เป็นค่าลมปากหวานๆ และเดือนหน้า สธ.ต้องเผชิญเรื่องที่หนักหนา คือ การพิจารณาว่า อสม.จะอยู่ภายใต้การดูแลของสธ.ต่อไป หรืออยู่ภายใต้การดูแลของอปท. เนื่องจากงบประมาณด้านสาธารณสุขส่วนหนึ่งตั้งไว้ที่ อปท. นายก อบจ.จึงอยากมีส่วนร่วมในการบริหารงาน ซึ่งในระยะยาว สธ.ก็จำเป็นต้องพึ่งพางบฯการส่งเสริมสุขภาพประชาชนบางส่วนจาก อปท.ขณะที่ อสม.มีภารกิจผูกกับ สธ. เพราะฉะนั้นทั้งสองหน่วยงานจำเป็นต้องหารือในการทำงานร่วมกันให้ได้
“การที่ สธ.จะทำงานร่วมกับอปท.คงไม่กระทบกับงานส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน เพราะผมได้ให้นโยบาย ไปแล้วว่าหน่วยงานสธ.ทุกตำบลต้องประสานกับ อปท.ให้ได้ เพราะลำพัง สธ.ไม่สามารถที่จะทำงานได้ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ถ้าท้องถิ่นสนับสนุนการทำงานของระดับสถานีอนามัยและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) จะคล่องตัวขึ้น” นายวิทยากล่าว