xs
xsm
sm
md
lg

ส่อต้องตีความกม.ตรวจเงินฯ ที่ปรึกษากม.ยันผ่านวุฒิฯแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน วุฒิสภา ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา เปิดเผยว่าคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายฯได้ประชุมกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าฯสตง. ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธาน คตง. มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 มายังประธานวุฒิสภา ขอให้พิจารณาทบทวนมติร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่วุฒิสภา มีมติเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งโดยมีคะแนนเห็นชอบ 70 ต่อ 53 เสียง โดย สตง.เห็นว่าการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 50 ในส่วนบทเฉพาะกาล มาตรา 302 วรรคห้า ที่บัญญัติว่า "การลงมติแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา"
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้น วุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบเพียง 53 เสียง ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งที่ 76 คน จึงเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้รับการเห็นชอบจากส.ว.แล้ว ตามมาตรา 302 วรรคห้า ซึ่งคณะกรรมาการที่ปรึกษากฎหมายฯเคยมีการพิจารณากรณีที่คล้ายกันคือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สภาผู้แทนราษฎร ลงมติไม่เห็นชอบด้วยเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ซึ่งตามมาตรา 302 วรรค ห้า ต้องถือว่าสภาฯให้ความเห็นชอบแล้ว และจะต้องส่งมายังวุฒิสภา แต่ขณะนี้ยังไม่ส่งมา
นายไพบูลย์ กล่าวว่า คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายฯ พิจารณาว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้ดำเนินการปรับปรุงภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามที่มาตรา 302 บัญญัติ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลักการ และเหตุผลของ ร่าง พ.ร.บ. ที่วุฒิสภาพิจารณาอย่างชัดเจน ดังนั้นการลงมติก็ต้องเป็นไปตามมาตราดังกล่าว ซึ่งบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษ จึงต้องถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ทำให้สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาเพื่อทราบ จากนั้นต้องดำเนินการตาม มาตรา 141 นั่นคือ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มิใช่ให้สภาผู้แทนราษฎร หยิบขึ้นมายืนยันตามมาตรา 147 (2) ซึ่งขณะนี้ทราบว่า ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ถ้าสภาผู้แทนราษฎรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณายืนยันตาม มาตรา 147 (2) ทราบว่า คตง. คงจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะผิดขั้นตอนในการพิจารณา
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทย มีมติให้คว่ำร่างดังกล่าว นายไพบูลย์ กล่าวว่า หากพิจารณาตาม มาตรา 302 วรรคห้า ขั้นต่อไปสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาเป็นวาระเพื่อทราบเท่านั้น การที่พรรคภูมิใจไทยคัดค้าน คงไม่สำเร็จ

**ร่าง กม.ตรวจเงินแผ่นดินยังปรับปรุงได้
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงเรื่องนี้ เมื่อ ส.ว.ไม่เห็นชอบ วุฒิสภา ต้องส่งเรื่องกลับมายังประธานสภาฯ และประธานสภาฯ ต้องส่งเรื่องกลับไปที่คณะรัฐมนตรี จากนั้นวิปรัฐบาลจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง โดยหลักการแล้วเราต้องยืนยันหลักการเดิม ที่จะให้อำนาจ คตง.ในการตรวจสอบ แต่ก็ต้องกลับมาพิจารณาว่า จุดอ่อนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุ มีอะไรบ้าง สภาฯมีสิทธิที่จะปรับเปลี่ยนได้
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับบทเฉพาะกาล ที่เปิดช่องให้บางคนที่เคยเป็น ตคง. กลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกนั้น หากสมาชิกเห็นว่าต้องมีการปรับปรุง ก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักการเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น