xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.คำนูณ” ยื่นดาบ คตง.สอบทุจริต ชี้ไม่ซ้ำซ้อน ป.ป.ช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
ปธ.กม.วิสามัญพิจารณา กม.ตรวจเงินแผ่นดิน แจงไม่ขัด รธน. ชี้เปิดโอกาส คตง.ชุดแรกสมัครได้ เป็นไปตามหลัก กม.ฉบับหลังไม่ตัดสิทธิ์ที่มีใน กม.ฉบับก่อน ระบุไม่แก้เลย เพราะสภาผู้แทนฯ แก้เยอะแล้ว ด้าน “คำนูณ” หนุนร่าง กม.หวังยกระดับ คตง. เชื่อตรวจสอบการทุจริตได้ดีขึ้นและไม่เกิดความซับซ้อนกับ ป.ป.ช. ระบุไม่ใช่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จ ชี้สุดท้ายสำนวนไปจบที่ศาล

วันนี้ (18 พ.ย.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีที่ ส.ว.จำนวนมากออกมาระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินบางมาตราขัดรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 252 วรรคหก บัญญัติว่า ให้บัญญัติอำนาจหน้าที่ของ คตง.และผู้วาการ สตง.ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กมธ.ก็ยึดตามนี้ และมองว่าที่บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและสืบสวน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และหากดูองค์กรอิสระทุกองค์กรจะเห็นว่ามีอำนาจดำเนินการไปจนสุดทาง คือส่งเรื่องไปยังศาลต่างๆ ที่อยู่ในเขตอำนาจ แต่ คตง.ไม่มี กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการยกระดับ คตง.ให้เท่ากับองค์กรอิสระอื่น ส่วนมาตรา 116 วรรคสอง ที่เปิดให้ คตง.ชุดแรกที่เลือกโดยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 40 เข้ารับการสรรหาได้นั้น ที่จริง พ.ร.บ.เดิมปี 42 ไม่ตัดสิทธิ์ คตง.ชุดแรกที่อยู่ในวาระ 3 ปี เข้ารับการสรรหา ดังนั้น กรณีที่กฎหมายให้สิทธิไว้ในกฎหมายฉบับก่อน กฎหมายฉบับหลังต้องไม่ไปตัดสิทธิ์ หรือเป็นโทษกับคนที่มีสิทธิ์ อยู่ตามกฎหมายฉบับก่อน นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้แก้ไขในมาตรา 116 วรคสอง เพียงแต่แก้วรรคแรกเท่านั้น และถ้าตัดวรรคสองออกคงต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของสองสภาก็จะช้าไปอีก 10 เดือนกว่ากฎหมายจะได้ใช้ และไม่แน่ว่าสภาผู้แทนฯ จะยุบเมื่อไหร่

นายไพบูลย์กล่าวว่า เกมที่เกิดในวุฒิสภามีบางฝ่ายไม่อยากให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านเพื่อนำไปใช้ ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้มีคุณประโยชน์มากเพราะสามารถป้องกันการทุจริตตั้งแต่ในช่วงต้นทางของการใช้งบประมาณแผ่นดิน ส่วนที่อดีต ส.ว.ตั้งข้อสังเกตว่ามีข้อสงสัยอย่างยิ่งว่า ทำไมไม่แก้เลยทั้งที่กฎหมายมีเป็นร้อยมาตรา ก็เพราะชั้นสภาผู้แทนฯแก้ไขมาอย่างละเอียดแล้ว ฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างมาก ตรวจสอบกฎหมายฉบับนี้มาก เพราะกฎหมายนี้ใช้ตรวจสอบ มาถึงวุฒิสภา กมธ.ก็เห็นว่าสมบูรณ์พอแล้ว และต้องการให้นำไปใช้ได้ทันท่วงที นอกจากนี้ มีกฎหมายหลายฉบับที่มาถึงชั้นวุฒิสภาแล้วไม่ได้แก้ไขเลย เช่น กฎหมายยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ หากเนื้อหาส่วนใดของร่างกฎหมายนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยอยู่แล้วเมื่อร่างกฎหมายผ่านรัฐสภา

เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่ามีความใกล้ชิดกับผู้เสนอกฎหมายมากอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน นายไพบูลย์กล่าวว่า ตนเป็น กมธ.พิจารณากฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่คราวนั้นตกไปเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่ององคืประชุมไม่ครบตอนพิจารณาวาระแรก จึงเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ดี และตนยังเป็น กมธ.กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และงานที่ผ่านมาก็ทำงานใกล้ชิดในเรื่องนี้

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กมธ.เสียงข้างมากที่สนับสนุนร่างกล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ในวุฒิสภาที่เห็นต่าง แต่ ป.ป.ช. อัยการก็เห็นต่าง เพราะทำให้ระบบการตรวจสอบเงินแผ่นดินเปลี่ยนโฉมหน้าไปเยอะ อย่างไรก็ดี ถ้าเข้าใจหลักการก็เชื่อว่า ส.ว.น่าจะสนับสนุน เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องการยกระดับ คตง. และสตง.ให้เท่ากับองค์กรอิสระอื่น เพราะมีสถานะเป็นองค์กรอิสระเหมือนกัน และผู้เข้ารับการสรรหา ก็กำหนดคุณสมบัติไว้สูงพอๆกัน นอกจากนี้ เดิม คตง.เมื่อตรวจสอบแล้ว ต้องส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. เมื่อ ป.ป.ช.รับเรื่องก็ต้องตั้งกรรมการมาไต่ส่วนอีก สตง.ก็ต้องไปให้ปากคำอีกครั้งจึงเกิดความซ้ำซ้อน ร่างกฎหมายนี้จึงให้อำนาจ คตง.เดินให้สุดทาง โดยล้อวิธีการเดินจาก ป.ป.ช. คือเรื่องต้องไปที่อัยการก่อน หากอัยการไม่เห็นด้วยก็ตั้งคณะกรรมการร่วมกัน หากยังไม่เห็นพ้องกัน คตง.ก็ฟ้องศาลที่อยู่ในเขตอำนาจ และเรื่องใดที่ ป.ป.ช.สอบสวน สตง.ก็สอบสวนไม่ได้ ฉะนั้นน่าจะเป็นการเสริมการป้องกันการทุจริตให้ดีกว่าเดิมมากกว่า นอกจากนี้ การให้มีคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังที่เป็นอิสระ ก็คล้ายศาลบัญชีชั้นต้นในยุโรปที่มีประสิทธิภาพตรวจสอบการใช้งบประมาณได้ดีมาก ฉะนั้น ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้ให้อำนาจ คตง.เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างที่หลายคนให้ภาพ เพราะสุดท้ายสำนวนก็ต้องไปที่ศาลตัดสิน

นายคำนูณกล่าวว่า ส่วนที่มีการมองว่าร้อยกว่ามาตราทำไมไม่แก้ไขแม้แต่ตัวเดียว ร่างกฎหมายนี้สภาผู้แทนฯ แก้ไขเยอะมาก เมื่อมาถึงวุฒิสภา กมธ.ก็เห็นว่าใช้ได้แล้ว และคำนึงถึงการใช้บังคับได้โดยเร็วเป็นเงื่อนไขสำคัญในการตัดสินใจ และสุดท้ายร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่น่ามีปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น