xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:กฎหมายการเงินการคลังของรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการยกร่างกฎหมายการเงินการคลังเพื่อใช้กำหนดกรอบวินัยการเงินการคลัง และใช้เป็นกรอบในการจัดหารายได้และการกำกับการใช้จ่ายเงินของรัฐตามหลักการรักษาเสถียรภาพ พัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 167 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ให้มีกฎหมายการเงินการคลังของรัฐเพื่อกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการวางแผนการเงินระยะปานกลาง การจัดหารายได้ การกำหนดแนวทางในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน การบริหารการเงินและทรัพย์สิน การบัญชี กองทุนสาธารณะ การก่อหนี้หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินหรือภาระทางการเงินของรัฐ หลักเกณฑ์การกำหนดวงเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องใช้เป็นกรอบในการจัดหารายได้ กำกับการใช้จ่ายเงินตามหลักการรักษาเสถียรภาพ พัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม”

ดังนั้น แนวคิดพื้นฐานของกฎหมายการเงินการคลังคือการกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลัง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการรักษาเสถียรภาพ พัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและความเป็นธรรม เป็นการกำหนดรูปแบบของการเสริมสร้างวินัยการคลังในลักษณะการกำหนดกฎเกณฑ์แนวทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ในรูปของกระบวนการ ระเบียบวิธีหรือแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านการคลัง แต่ไม่ได้มีเกณฑ์ที่เป็นตัวเลขตายตัว เกณฑ์แนวทางปฏิบัตินี้เป็นความสัมพันธ์เชิงระบบของสามกระบวนการด้วยกัน คือ การกำหนดนโยบายการคลัง การแปลงนโยบายเป็นการปฏิบัติ และการติดตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ

การกำหนดนโยบายการคลังจะเกี่ยวข้องกับนโยบายรายได้รัฐบาลและรายจ่ายภาคสาธารณะ นโยบายกองทุนสาธารณะ และการก่อหนี้และภาระผูกพันทางการเงิน เพื่อให้การบริหารรายจ่ายและทรัพย์สินของภาคสาธารณะเกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด ในขณะเดียวกันเพื่อให้มีการรับรู้การใช้จ่ายอยู่ในรูปแบบเดียวกันและสามารถเปรียบเทียบ วัดผล และประเมินผลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งหน่วยงานภาคสาธารณะรูปแบบต่างๆกันได้ จึงต้องมีการตรวจสอบภายในที่เหมาะสมควบคู่กันไป โดยผลของการใช้จ่ายดังกล่าวจะถูกบันทึกบัญชีที่มีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ มีการรายงานอย่างครบถ้วน สม่ำเสมอ ซึ่งจะสามารถแสดงผลของการใช้จ่ายดังกล่าวได้อย่างโปร่งใส และใช้ในการประเมินผลของนโยบายการคลังได้

หลักการสำคัญในการยกร่างกฎหมายการเงินการคลัง มีหลายประการดังนี้

1 การดำเนินนโยบายการคลังและบริหารการเงินการคลังของรัฐควรเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการรักษาเสถียรภาพ พัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้ ให้รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

2 ให้มีการจัดทำแผนการเงินการคลังระยะปานกลางของประเทศเพื่อเป็นข้อมูลภาพรวมด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลทั้งในส่วนของเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ รายจ่ายของรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน กองทุนสาธารณะต่างๆ รวมทั้ง แหล่งเงินที่จะนำมาใช้จ่ายทั้งในส่วนของรายได้และเงินกู้ สำหรับการดำเนินนโยบายการคลังของประเทศ

3 การจัดเก็บรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องและเป็นธรรม โดยมีการวางแผนการจัดเก็บรายได้ที่ครอบคลุมทุกประเภทรายได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ และต้องนำรายได้ส่งคลังเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายของรัฐบาล

4 การใช้จ่ายเงินของแผ่นดินต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ และตรงตามวัตถุประสงค์ของงบประมาณรายจ่ายแต่ละประเภท กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายต้องเปิดเผย โปร่งใสและชัดเจน โดยคำนึงถึงเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลังเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงรายจ่ายที่เป็นภาระตามกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งต้องตั้งงบประมาณให้ครบถ้วน

5 การบริหารการเงินและทรัพย์สินของแผ่นดินต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของประเทศและอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน โดยมีหน่วยงานที่ดูแลการคลังของรัฐเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของแผ่นดินในนามของรัฐบาลแต่เพียงหน่วยงานเดียว

6 การจัดทำบัญชีภาครัฐและการตรวจสอบภายในภาครัฐต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนและสอดคล้องกันทั้งระบบ ต้องมีการจัดทำรายงานการเงินแผ่นดิน รวมทั้งให้องค์กรอิสระตรวจสอบและเปิดเผยต่อสาธารณชน

7 การจัดตั้งกองทุนสาธารณะให้กระทำได้แต่โดยกฎหมาย และการจัดตั้งต้องไม่ซ้ำซ้อนกับส่วนราชการหรือกองทุนนสาธารณะที่จัดตั้งไว้แล้ว การบริหารการเงินของกองทุนสาธารณะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกกองทุน รวมทั้งการใช้จ่ายเงินต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างเคร่งครัด ซึ่งต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานและการประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ

8 การก่อหนี้ การดำเนินการผูกพันทรัพย์สินหรือภาระทางการเงินของรัฐ จะต้องกระทำด้วยความรอบคอบเพื่อประโยชน์ของประเทศเท่านั้น โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้และความยั่งยืนทางการคลัง และมีการติดตามสถานะหนี้อย่างเป็นระบบ

9 มีการรายงานข้อมูลทางการคลังที่เป็นปัจจุบันและการประมาณการล่วงหน้าอย่างสมเหตุสมผลต่อสาธารณะ ส่งเสริมการตรวจสอบจากสาธารณะและความรับผิดชอบทางการคลัง ควบคู่กับการประเมินความเสี่ยงทางการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อประโยชน์แห่งเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง

10 การสร้างความเคร่งครัดในการปฏิบัติตามกรอบวินัยการเงินการคลังของบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม ด้วยการกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายและทางสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น