สธ.เผยผลสำรวจการปฏิบัติตัวของนักเรียนตามสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ พบนักเรียนมีความรู้และนำสุขบัญญัติฯไปใช้ในชีวิตประจำวันระดับดี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการดูแลสุขภาพฟัน การกินอาหาร การงดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ โดยเด็กที่ได้รับคำแนะนำจากครู แม่ จะมีความรู้และปฏิบัติตัวดีกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ เด็กภาคเหนือปฏิบัติตัวตามสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการดีกว่าภาคอื่น
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยว่ากระทรวงฯได้รณรงค์ให้ประชาชนและนักเรียน ปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการเพื่อให้มีสุขภาพดี สามารถป้องกันโรคได้ โดยกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ประเมินสภาวะพฤติกรรมสุขภาพตามสุขบัญญัติแห่งชาติของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในพื้นที่ 10 จังหวัดๆ ละ 400 คน รวม 4,068 คน ในวันที่ 27 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2552 ผลการประเมินพบว่า นักเรียนหญิงมีความรู้และมีนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันสูงกว่านักเรียนชาย โดยนักเรียนมีความรู้พฤติกรรมสุขภาพเฉลี่ย 34 คะแนนจากคะแนนเต็ม 45 คะแนน ภาคกลางมีความรู้สูงกว่าภาคอื่น สุขบัญญัติแห่งชาติที่นักเรียนมีความรู้มากที่สุดร้อยละ 80 ขึ้นไป ได้แก่ สุขบัญญัติข้อ 2 เรื่องการรักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง ข้อ 4 กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตรายและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด และข้อ 6 สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น กลุ่มนักเรียนที่มีความรู้พฤติกรรมสุขภาพสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ พบว่ามีครูและแม่เป็นผู้ให้คำแนะนำ
ส่วนพฤติกรรมการนำสุขบัญญัติ 10 ประการไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน พบว่านักเรียนปฏิบัติเฉลี่ย 79 คะแนนจากคะแนนเต็ม 108 คะแนน ภาคเหนือปฏิบัติสูงกว่าภาคอื่น พฤติกรรมสุขภาพที่ปฏิบัติอยู่ในระดับดีร้อยละ 80 ขึ้นไปได้แก่ สุขบัญญัติข้อ 2.รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง สุขบัญญัติข้อ 3.ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย และสุขบัญญัติข้อ 5 งดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ จึงควรสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และผลักดันให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ เพื่อผลทางสุขภาพระยะยาว
ทางด้าน นางเพ็ญศรี เกิดนาค ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า การประเมินครั้งนี้ กองสุขศึกษา ดำเนินการในพื้นที่ 10 จังหวัด กระจายทุกภูมิภาคได้แก่ เพชรบุรี สระบุรี ชลบุรี บุรีรัมย์ ขอนแก่น สุโขทัย ลำพูน ชุมพร พังงา และกรุงเทพมหานคร อายุเฉลี่ย 12 ปี น้ำหนักตัวเฉลี่ย 41 กิโลกรัม สูงเฉลี่ย 150 เซนติเมตร ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่บิดามารดาอาศัยอยู่ด้วยกัน บุคคลหลักที่คอยแนะนำพฤติกรรมสุขภาพ ส่วนใหญ่มีแม่เป็นผู้แนะนำร้อยละ 53 รองลงมาคือครูร้อยละ 19 โดยพบนักเรียนอายุ 11-12 ปี มีคะแนนความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพสูงกว่ากลุ่มอื่น และพบนักเรียนป.4-ป.6 มีคะแนนพฤติกรรมสุขภาพสูงกว่านักเรียน ม.1-ม.3
เป็นที่น่าสังเกตว่า เด็กนักเรียนที่ได้รับคำแนะนำจากมารดาและญาติ จะมีความรู้เรื่องสุขบัญญัติแห่งชาติสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ส่วนนักเรียนที่ได้รับคำแนะนำจากครูและมารดา จะมีการปฏิบัติตามสุขบัญญัติฯสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ นักเรียนที่มีบิดามารดาอยู่ร่วมกัน จะมีคะแนนพฤติกรรมสุขภาพสูงกว่ากลุ่มนักเรียนที่บิดามารดาแยกกันอยู่ หรือกำพร้าพ่อหรือแม่ ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มีส่วนสำคัญในการปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพแก่เด็กคือพ่อแม่และครู ในปี 2553 กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะร่วมกับโรงเรียน 152 แห่ง ใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขยายผลดำเนินการสุขบัญญัติอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเรียนรู้และการปฏิบัติจริง โดยใช้สุขภาพของนักเรียนเป็นเกณฑ์ชี้วัดผล
สำหรับสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ มีดังนี้ 1.ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด 2.รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง 3.ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย 4.กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตรายและหลีกเลี่ยงอาการรสจัด สีฉูดฉาด 5.งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ 6.สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น 7.ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท 8.ออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี 9.ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ และ 10.มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม
ทั้งนี้ ในวันที่ 23-24 ธันวาคม 2552 จะสัมมนาร่วมกันระหว่างครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานด้านสุขภาพ และกำหนดแนวทางร่วมกันในการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพตามสุขบัญญัติแห่งชาติในเด็ก เยาวชน สถานศึกษา โดยกองสุขศึกษาจะสนับสนุนด้านวิชาการ สื่อสุขศึกษา และการประเมินผลการดำเนินงานต่อไป