xs
xsm
sm
md
lg

แฉเซลล์ยาแยบยล ตีซี้หมอขายของ ซื้อไม้กอล์ฟฝาก แนะแก้ตั้งแต่ร.ร.แพทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แฉผู้แทนยาตีซี้หมอหวังขายยา ไม่ได้เข้าหาโดยเน้นให้ข้อมูลยา แถมพูดแต่ข้อดีไม่มีข้อเสีย เผยวางแผนแยบยลลงจับไต๋หมอชอบกอล์ฟ ลงเรียนแล้วซื้ออุปกรณ์กอล์ฟไปฝาก เสนอรัฐตั้งกองทุนศึกษาข้อมูลยา 2 ด้านส่งตัวแทนเหมือนตัวแทนยาเข้าพบแพทย์ให้ข้อมูล ขณะที่หมอศิริราชฯ ระบุเหตุใช้ยาไม่เหมาะสมเพราะทัศคติหมอ แนะต้องแก้ตั้งแต่อยู่โรงเรียนแพทย์

ภก.วิบูลย์ วัฒนนามกุล อาจารย์ประจำเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ได้ทำการวิจัยเชิงลึก โดยการสัมภาษณ์แพทย์ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ทั้งอาจารย์แพทย์และแพทย์ทั่วไป 9 ราย ผู้แทนบริษัทยา 11 คนทั้งยาในประเทศและต่างประเทศ นักศึกษาเภสัชกรรมที่เพิ่งฝึกงานจบจากบริษัทยา 5 คน พบว่า หัวใจสำคัญของการทำหน้าที่ของตัวแทนยาที่ไปพบแพทย์ ไม่ใช่เรื่องของข้อมูล แต่เป็นเรื่องการสร้างความสนิท ความซี้ เพราะแพทย์ส่วนใหญ่มีความรู้ในเรื่องของยาดีอยู่แล้ว แต่การพิจารณาใช้ยารายไหน เป็นเพราะความซี้กับผู้แทนยาเป็นสำคัญ ซึ่งขัดกับวิชาชีพที่ต้องยึดข้อมูลยาที่เป็นการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ

“จากงานวิจัยในต่างประเทศยืนยันว่า แพทย์มีแนวโน้มใช้ยาของบริษัทที่มีผู้แทนยาที่ซี้ รวมถึงแพทย์ที่เจอผู้แทนยาบ่อย ก็มีโอกาสใช้ยาของบริษัทผู้แทนนั้นมากขึ้นด้วย และในบริษัทที่มีผู้แทนยาเก่งๆ เมื่อย้ายบริษัทไป แพทย์ก็จะตามไปใช้ยาในบริษัทใหม่ที่ผู้แทนยาไปสังกัดด้วย ทั้งนึ้ความซี้ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้แทนยากับแพทย์นั้นไม่ได้เกิดจากการที่พบหรือพูดคุยกันบ่อยเท่านั้น จากการวิจัยพบว่า มีความลึกซึ้งมากกว่านั้น เพราะจากการสัมภาษณ์ผู้แทนยาพบว่า ความซี้เกิดจากการคิดไตร่ตรองและวางแผนมาแล้วทั้งสิ้น”ภก.วิบูลย์ กล่าว

ภก.วิบูลย์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าผู้แทนบริษัทยาจะมีหน้าที่ในการตีซี้ สร้างความสนิทสนมกับแพทย์มากกว่าการให้ข้อมูลยาแล้ว ยังพบว่า ข้อมูลยาที่มีการให้กับแพทย์นั้นมักจะเป็นการพูดแต่แง่ดีของตนเอง และเปรียบเทียบว่าดีกว่ายาของบริษัทคู่แข่งด้วย จึงอยากเสนอให้รัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อตั้งองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลยาทั้งข้อดีและข้อเสียของยาชนิดนั้นๆ และให้ผู้แทนขององค์กรดังกล่าวไปให้ข้อมูลแพทย์เช่นเดียวกับผู้แทนของบริษัทยาที่มักเปิดเผยแต่ข้อมูลด้านดีเพียงอย่างเดียว

ภก.วิบูลย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ความซี้ที่เกิดขึ้นโดยการคิดการวางแผนมาก่อนของผู้แทนบริษัทยานั้นมีความซับซ้อน อาทิ การจับพฤติกรรมว่าแพทย์ผู้นั้นชอบหรือไม่ชอบอะไร ถึงกับขนาดมีบางรายเมื่อทราบว่าแพทย์ชอบกอล์ฟก็เรียนกอล์ฟเพื่อหาเรื่องคุยกับแพทย์และซื้อของบางอย่างที่เกี่ยวกับกอล์ฟมาฝากแพทย์ผู้นั้น โดยถือว่าเป็นการให้ความหมายของวัตถุมีคุณค่าด้านความสัมพันธ์แทรกเข้าไปด้วย

ภก.วิบูลย์ กล่าวว่า หากไม่ดำเนินการอื่นใดเลยผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ แพทย์จะใช้ยาโดยไม่ได้ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประสิทธิภาพยาอย่างแท้จริง แต่เป็นการสอดแทรกผ่านผู้แทนบริษัทยา และสิ่งที่ตามมาคือต้นทุนราคายาที่สูงขึ้น ซึ่งวัตถุเหล่านั้นตั้งแต่ปากกายันจนงบประมาณที่สนับสนุนไปงานประชุมต่างประเทศล้วนเป็นต้นทุนที่บวกเข้าไปทำให้มีผลต่อราคายาที่แพงทั้งสิ้น

นพ.ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สาเหตุของการใช้ยาไม่เหมาะสมนั้น ไม่สามารถระบุว่าตัวแทนบริษัทยาเป็นผู้ผิดแต่ผู้เดียว แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาหลักๆ อยู่ที่แพทย์ด้วย อาทิ ความฝังใจว่ายาต้นแบบดีกว่ายาสามัญ ทำให้จ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาหลายชนิดที่ใช้มีข้อบ่งชี้สรรพคุณที่อยู่นอกเหนือกับสรรพคุณที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รวมถึงการสั่งจ่ายยาเกินความจำเป็นและควรหยุดทานแต่แพทย์กลับบอกผู้ป่วยให้ทานต่อไป เพราะไม่เป็นอันตราย อาทิ วิตามิน ยาลดกรด ยาแก้อักเสบแก้ปวด ยาแก้วิงเวียน ฯลฯ

“เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากการใช้ยาในโรงพยาบาลศิริราชเห็นชัดว่ายาทำกำไรให้สถาบันด้วยเช่นกัน อีกทั้งนโยบายด้านยาเกี่ยวข้องกับผู้บริหารด้วย เพราะเป็นผู้ตัดสินว่าจะใช้ยาใดหรือไม่ใช้ ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสมส่วนหนึ่งเกิดจากโรงเรียนแพทย์ ซึ่งหากโรงเรียนแพทย์หาทางแก้ไข โดยจัดทำเป็นนโยบายก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะหากรับปากกาเขาแล้วไม่ซื้อยาเขาก็ไม่เป็นไร แต่ต้องยึดหลักข้อมูลวิชาการทางยาเป็นสำคัญ”นพ.ชนินทร์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น