xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยพบ "เถาวัลย์เปรียงแคปซูล" รักษาปวดหลัง-ข้อเข่าเสื่อม ปลอดภัย-ประสิทธิภาพ เทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เถาวัลย์เปรียง
วิจัย "เถาวัลย์เปรียงแคปซูล" เปรียบเทียบยาแผนปัจจุบัน ใช้รักษาอาการปวดหลังและอาการอักเสบจากโรคข้อเข่าเสื่อมพบ มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเทียบเท่ากับ "ยาไดโคลฟีแนค" ซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการปวดและ "นาโปรเซน" ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบ

นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าก รมวิทยาศาสตร์การแพทย์และโรงพยาบาลวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ได้ร่วมกันดำเนินการวิจัยทางคลินิกเพื่อศึกษาประสิทธิผลและผลข้างเคียงของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง จำนวน 70 ราย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงแคปซูล ขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ3ครั้งเป็นเวลา 7 วัน และผู้ป่วยที่ได้รับยาแผนปัจจุบันไดโคลฟีแนค(Diclofenac)ขนาด 25 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีอาการปวดลดลงอย่างชัดเจนในวันที่ 3 และวันที่ 7โดยกลุ่มผู้ป่วย ที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีเม็ดเลือดขาวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 7ของการรักษาแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติและไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีรวมทั้งผลข้างเคียงใดๆ

ส่วนการศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในการรักษาอาการอักเสบจากข้อเข่าเสื่อมนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมดำเนินการวิจัยทางคลินิกกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเข้าร่วมโครงการจำนวน 125คนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาแผนปัจจุบันนาโปรเซน(Naproxen) ขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ2 ครั้ง นาน 4สัปดาห์และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาสารสกัดเถาวัลย์เปรียงขนาด 400 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่ายาแผนปัจจุบันนาโปรเซนและสารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีประสิทธิผลและความปลอดภัยไม่แตกต่างกันและผู้ป่วยที่ได้รับยาทั้งสองกลุ่มมีความพึงพอใจต่อการรักษาร้อยละ 80

ด้าน นางมาลี บรรจบ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิผลในการเพิ่มภูมิคุ้มกันของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 59 รายโดยให้อาสาสมัครรับประทานแคปซูลสารสกัดเถาวัลย์เปรียง ครั้งละ 1 แคปซูล (200มิลลิกรัม/แคปซูล) วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าอาสาสมัครทั้งหมด ไม่มีอาการข้างเคียงใดๆระหว่างรับประทานสารสกัดเถาวัลย์เปรียง ส่วนค่าทางโลหิตวิทยาและค่าทางชีวเคมีบางค่ามีการเปลี่ยนแปลงแต่อยู่ในช่วงของค่าปกติและยังพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของปริมาณของ IL-2 และ γ-IFN ในซีรั่มเพิ่มขึ้น ดังนั้นการรับประทานสารสกัดเถาวัลย์เปรียง ขนาด 400มิลลิกรัม/วัน นาน 2เดือนมีความปลอดภัยและมีส่วนช่วยควบคุมหรือเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

 "กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสกัดสาระสำคัญและควบคุมคุณภาพให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อให้มีการผลิตเป็นยาออกจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรมทำให้มีการใช้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะเพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆได้นำไปใช้กับผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 02951- 0000 ต่อ 99386 และ 99486"นางมาลีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น