รพ.ศิริราช พร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดฯ 2009 เผยการพิสูจน์ศพจะสร้างความกระจ่างในข้อสงสัยกรณีผู้ที่สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวเสียชีวิตจากหวัดฯ 2009 และหาปัจจัยโรคแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิต เผยยอดผู้ป่วยในความดูแลยังอยู่ในไอซียู 4 ราย
ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความพร้อมในการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า หากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่งศพมายังโรงพยาบาลศิริราช ก็ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้และเตรียมคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกร่วมในการชันสูตรพลิกศพ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โรงพยาบาลศิริราชยังไม่ได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการว่าจะมีการส่งศพผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดฯ 2009 มาให้ชันสูตร
ด้าน รศ.ตุ้มทิพย์ แสงรุจิ หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา กล่าวว่า โรงพยาบาลศิริราชมีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ในการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดฯ 2009 โดย ผศ.นพ.มงคล อุยประเสริฐกุล แพทย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยา ซึ่งมีชื่อเสียงในการศึกษาและติดตามการระบาดของไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่มาตลอด จะเป็นผู้ชันสูตรตามหลักวิชาการ โดยก่อนหน้านี้ สธ.ได้เคยส่งชิ้นเนื้อบางส่วนมาให้ตรวจสอบ แต่หากมีการส่งศพมาให้ตรวจสอบ ก็จะต้องตรวจศึกษาตั้งแต่ร่างกายภายนอก โครงสร้างจุลทรรศน์อิเล็กตรอน โดยประสานภาควิชาจุลทรรศน์วิทยาและไวรัสวิทยามาร่วมตรวจสอบ ซึ่งการผ่าพิสูจน์ศพจะทำให้ได้ศึกษาในประเด็นที่ถกเถียงและเป็นที่สนใจ คือ กลุ่มคนที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว เหตุใดจึงเสียชีวิตด้วยไข้หวัดฯ 2009 หรือในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง มีสาเหตุใดเป็นปัจจัยทำให้เสียชีวิตได้บ้าง มีโรคแทรกซ้อนอย่างไรได้บ้าง ซึ่งการตรวจศพจะให้ความกระจ่างในเรื่องเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ยังทำให้ได้ศึกษาเรื่องการกลายพันธุ์ของเชื้อได้ด้วย ทั้งนี้การวินิจฉัยเบื้องต้นจะใช้เวลาในการชันสูตรแต่ละศพไม่เกิน 5 วัน ส่วนการศึกษาทางจุลทรรศน์วิทยาและไวรัสวิทยาต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งโรงพยาบาลศิริราชได้เตรียมพร้อมมาตั้งแต่มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากไข้หวัดฯ 2009 รายแรกแล้ว
ด้าน นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์การตรวจเชื้อไข้หวัดฯ 2009 ในห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า ตั้งแต่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ฯ 2009 ถึงปัจจุบัน กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตรวจเชื้อไปแล้วกว่า 20,000 ราย ซึ่งหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขมีข้อกำหนดชัดเจนว่าอาการแบบใดจึงส่งตรวจทำให้มีการส่งตรวจลดลงแต่ยังเฉลี่ยที่วันละ 1,000-1,500 ราย ซึ่งการตรวจเชื้อเพื่อเป็นการเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ ขณะนี้ยังยืนยันได้ว่ายังไม่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดฯ 2009 และตรวจเพื่อเก็บข้อมูลการระบาดว่าไปถึงพื้นที่ใดบ้างแล้ว สำหรับภาวะดื้อยาของเชื้อไข้หวัดฯ 2009 ในไทย ขณะนี้ยังไม่พบการดื้อยา ยาโอเซลทามิเวียร์ที่ใช้อยู่ยังใช้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดฯ 2009 ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า หลังจากมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดฯ 2009 โรงพยาบาลศิริราชได้เพิ่มช่องทางพิเศษให้ผู้ป่วยต้องสงสัยได้ตรวจอย่างรวดเร็ว แต่ละวันจะมีผู้ป่วยหวัดเข้ามารับการตรวจ 200-300 ราย จึงต้องใช้วิธีลดผู้ป่วยผ่าตัดที่ยังรอได้ ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มาดูแลผู้ป่วยหวัดฯ 2009 ได้เต็มที่ขึ้น ที่ผ่านมามีคนไข้หวัดฯ 2009 อาการวิกฤต 17-18 รายในห้องไอซียู รักษาหายออกจากโรงพยาบาลโดยส่วนใหญ่แล้ว เหลืออีก 4 รายที่ยังอยู่ไอซียูปัจจุบัน