ลุ้น กวช.ผ่านร่างข้อควรระวังฯ ใช้สัญลักษณ์พระพุทธศาสนาเชิงพาณิชย์ เตรียมร่อนหนังสือถึงต่างประเทศ-ร้านอาหาร แหล่งบันเทิงที่นำสัญลักษณ์ศาสนาพุทธไปใช้ในสุขภัณฑ์ กางเกงใน ถุงเท้า ชี้ไม่เหมาะสม
นาย วีระ โรจน์พจน์รัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงร่างข้อควรระวังในการใช้ตราสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) มีมติให้นำร่างดังกล่าวกลับมาปรับปรุงและแก้ไขว่า ขณะนี้ วธ.ได้ดำเนินการแก้ไขร่างดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยปรับแก้ชื่อจากร่างคู่มือการใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาเชิงพาณิชย์ เป็นข้อควรระวังในการใช้ตราสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ตามข้อเสนอของ กวช.
ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า ในร่างฯ ดังกล่าวยังคงกำหนดแนวทางในการนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาไปใช้อย่างชัดเจน อาทิ สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาที่ไม่ควรนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ สถานที่ สื่อสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ควรนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ และความรู้เกี่ยวกับการนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาไปใช้ รวมทั้งได้มีการรวบรวมข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะเอาผิดสำหรับผู้ฝ่าฝืน อาทิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 การกระทำอันเป็นการเหยียดหยามต่อวัตถุหรือสถานที่อันเป็นที่เคารพในทางศาสนา มาตรา 208
การแต่งกายหรือการใช้เครื่องหมายในทางพระพุทธศาสนาที่แสดงว่าตนเป็นนักบวชในศาสนาโดยมิชอบ อย่างไรก็ตาม วธ.จะเร่งนำร่างข้อควรระวังในการใช้ตราสัญลักษณ์ฯ เสนอให้ที่ประชุม กวช. พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนมากราคม 2553
“หากร่างดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจาก กวช.จะออกเป็นประกาศแจ้งให้หน่วยงานต่างๆ รับทราบ โดยเฉพาะในต่างประเทศ นอกจากนี้ วธ.จะดำเนินการแปลและจัดพิมพ์เอกสารดังกล่าวเผยแพร่ โดยในเริ่มแรกจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษก่อน ส่วนภาษาอื่นจะค่อยๆ จัดทำ ที่สำคัญจะต้องทำหนังสือแจ้งไปยังประเทศที่มักนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมามักพบว่าการนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น ตามร้านอาหาร สถานบันเทิง และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กางเกงใน ถุงเท้า รองเท้า เครื่องสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ” นายวีระกล่าว