ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา หนุนรัฐบาลเพิ่มภาษีสรรพสามิตร สอดรับปี 2553 อาฟต้า ลดภาษีนำเข้าสุรา เบียร์นอก เหลือ 0% หวั่นคนไทยดื่มสุรา เบียร์เพิ่ม“นักวิชาการยุโรป” แฉธุรกิจเหล้าคุกคามสหภาพยุโรป แทรกแซงอำนาจรัฐคุมเหล้า เบียร์ทุกชนิด แถมยังตั้งองค์กรหน้าฉากให้ข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริง หนุนงานวิจัยที่ไม่ขัดขวางการทำการตลาดเหล้า เบียร์
นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับมาตรการขึ้นภาษี ที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าการขึ้นราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงได้ โดยจากการศึกษาพบว่า หลังจากรัฐบาลได้ขึ้นภาษีสรรพสามิตเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา พบว่า คนไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ลงลง จากเดิม 1.17 ล้านลิตร แต่รัฐบาลยังมีรายได้เพิ่มขึ้น ที่สำคัญในปี 2553 จะเป็นปีแรกที่เริ่มใช้เขตการค้าเสรีในกลุ่มประเทศสมาชิกเอเซียน (อาฟตา) ส่งผลให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้า มีราคาถูกลง ซึ่งเป็นกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เยาวชน วัยรุ่นบริโภคมากที่สุดด้วย ดังนั้น มาตรการขึ้นภาษีสรรพสามิต เพื่อให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้ามาราคาสูงตามเดิม จึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะป้องกันเยาวชนนักดื่มหน้าใหม่ได้ และลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ยังได้เงินภาษีเหมือนเดิม ไม่สูญเสียรายได้อีกด้วย
ดร.แอน โฮป ที่ปรึกษานโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ กรมสุขภาพและเยาวชน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ กล่าวในการบรรยายและแลกเปลี่ยนความรู้ “การจัดการกับปัญหาแอลกอฮอล์ในประเทศไอร์แลนด์ ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไอร์แลนด์ ประสบปัญหาเรื่องผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมาก ทั้งปัญหาความรุนแรงในสังคม อุบัติเหตุเมาแล้วขับ และการก่ออาชญกรรม ส่งผลให้ในปี 2546 ภาควิชาการยื่นข้อเสนอยุทธศาสตร์ความคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติให้ภาคการเมืองนำไปบังคับใช้ โดยมีมาตรการสำคัญช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้คือ การขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม 40% และการกำหนดระยะเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจากผู้ขับขี่รถยนต์ ช่วยให้ประชาชนลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ได้มาก
“แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไอร์แลนด์ มีกฎหมายควบคุมเข้มงวดได้เพียง 3 ปีเท่านั้น คือช่วงปี 2546-2548 เพราะมีนายกรัฐมนตรีที่เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะเดียวกันการขึ้นภาษีสุรา ทำให้ชาวไอร์แลนด์เดินทางไปซื้อเหล้า เบียร์จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่าแทน ทำให้แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ จึงได้มีการแก้ไขกฎหมาย โดยลดทอนมาตรการลด เช่น ลดภาษีศุลกากรลง เพราะกลัวสูญเสียรายได้ จึงทำให้ประชาชนหันมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้นเหมือนเดิมอีก สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและค้ามากกว่าสุขภาพของคนในประเทศ” ดร.แอน กล่าว
ดร.แอน กล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ขณะนี้กลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังถูกธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทรกแซงอำนาจการควบคุมกฎหมาย โดยการแต่งตั้งตั้งแทนจากอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าร่วมเป็นกรรมการกำหนดยโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังมีการก่อตั้งองค์กรหน้าฉากออกมาตอบโต้มาตรการการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐ และนักวิชาการ โดยให้ข้อมูลที่ผิดๆ กับประชาชน สนับสนุนเฉพาะงานวิจัยที่ไม่ขัดขวางการทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงทำได้ยากขึ้น ดังนั้นจึงต้องอาศัยพลังจากประชาสังคมสนับสนุนมาตรการต่างๆ ให้เข้มแข็งขึ้น