ชัด คกก.ชุดปลัดยุติธรรม ชี้ “หมอปราชญ์” ไม่ผิดจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง เอื้อบริษัทเอกชน แย้งกับ สตง. ขณะที่ สธ.เตรียมส่งเรื่องกลับ สตง.พิจารณาสัปดาห์หน้า ไม่ส่งอัยการเหตุเป็นเรื่องข้อเท็จจริง ไม่เกี่ยวประเด็นทางแพ่ง-อาญา
จากกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือชี้มูลความผิดกรณีการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงพร้อมด้วยครุภัณฑ์การแพทย์ประจำรถพยาบาลฉุกเฉิน 232 คัน งบประมาณ 340 ล้านบาท ของกระทรวงสาธารณสุข โดยระบุความผิดของนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ในขณะนั้น พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของสธ.บางคน ว่ามีความพยายามปรับปรุงคุณลักษณะเฉพาะหรือทีโออาร์ เพื่อเอื้อให้บริษัทของเอกชนเข้าประกวดราคาเพียงบริษัทเดียว และการปรับลดทีโออาร์จนถึงการจัดซื้อ ดำเนินการอย่างรีบร้อนและรวบรัดเพียง 3 วัน เท่านั้นมายัง สธ. และต่อมา สธ.ได้ส่งให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาให้ความเห็น โดยคณะกรรมการมีปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นประธาน
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า คณะกรรมการชุดที่มีปลัด ยธ.เป็นประธาน ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเรียกพยานทุกคนมาสอบถามเรียบร้อยแล้วเห็นว่า นพ.ปราชญ์ และผู้บริหาร สธ.ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงทีโออาร์ไม่ผิด ซึ่งถือว่าเป็นความเห็นที่ขัดแย้งกับ สตง. ซึ่งขณะนี้ตนกำลังรอความเห็นจากกลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรมของ สธ.ที่จะเสนอแนะว่าควรดำเนินการส่งเรื่องต่อให้ สตง. อัยการ หรือสำนักงานปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ หากสรุปว่าต้องส่งเรื่องกลับไป สตง.พิจารณาก็จะดำเนินการ จากนั้นจะรอความเห็นสตง.ส่งกลับมายังสธ.อีกครั้งว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มเสริมสร้างวินัยฯ ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้มายังตนแล้ว แต่จำเป็นต้องเพิ่มเติมในบางประเด็นจึงให้นำกลับไปปรับปรุง คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะเสนอเรื่องให้นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ.พิจารณาลงนามเพื่อส่งเรื่องกลับไปยัง สตง. ต่อจากนั้นหาก สตง.เห็นว่ามีประเด็นที่ สธ.จะต้องดำเนินการก็จะส่งเรื่องกลับมาให้ สธ.พิจารณาอีกครั้ง ในส่วนของการส่งเรื่องให้อัยการ สธ.คงไม่ดำเนินการ เนื่องจากตามระเบียบการส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาจะกระทำต่อเมื่อมีข้อกฎหมายต้องหารือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นทางแพ่งและอาญา แต่กรณีนี้เป็นประเด็นเรื่องข้อเท็จจริง ที่เกี่ยวข้องระหว่าง สธ.และ สตง.ในการพิจารณาข้อเท็จจริงร่วมกัน
“การที่ สธ.ไม่ส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาไม่ได้หมายความว่า สธ.จะไม่ดำเนินการทางแพ่งหรืออาญา แต่เมื่อ สตง.ส่งข้อมูลหรือข้อกล่าวหามายัง สธ. และ สธ.ดำเนินการตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบในเรื่องนี้ เมื่อคณะกรรมการให้ความเห็นเช่นไร ก็ต้องส่งผลสรุปนั้นกลับไปให้กับ สตง.พิจารณาเพิ่มเติม ส่วนในอนาคต สธ.จะต้องดำเนินการทางแพ่งหรืออาญาหรือไม่ต้องรอการพิจารณาของ สตง.อีกครั้ง”นพ.ไพจิตร์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามระเบียบหากสรุปผลการสอบสวนเสร็จสิ้น หน่วยงานต้นสังกัดจะต้องดำเนินการทางแพ่งและอาญา โดยต้องแจ้งความดำเนินคดีก่อนหมดอายุความ 1 ปี นับจากวันที่ได้รับแจ้งผลความเสียหาย และต้องส่งหลักฐานให้อัยการก่อนครบกำหนดอายุความเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งกรณีนี้จะหมดอายุความวันที่ 3 ก.พ.2553 สธ.ต้องส่งเอกสารหลักฐานให้อัยการภายในวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่เมื่อคณะกรรมการชุดที่มีปลัดยธ.เป็นประธานให้ความเห็นแย้งกับการที่ สตง.ชี้มูล สตง.อาจต้องนำความเห็นนี้ไปประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม จึงถือว่าการสอบสวนยังไม่สิ้นสุด สธ.ยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการทางแพ่งและอาญา และไม่มีเงื่อนไขเวลาว่าจะต้องส่งเอกสารหลักฐานให้อัยการทำสำนวนฟ้องร้องภายในวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา
อนึ่ง การกำหนดคุณลักษณะรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง 232 คันให้กับโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศดำเนินการครั้งแรกในสมัยคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นรมว.สธ. โดยมีนพ.วิชัย เทียนถาวร เป็นปลัด สธ. และมี นพ.สมชาย กาญจนสุต อดีตผู้อำนวยการศูนย์นเรนทรเป็นประธานคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงในครั้งแรก จากนั้นในสมัย นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล เป็น รมว.สธ.ได้แต่งตั้งให้ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ เป็นปลัด สธ.
นอกจากนี้ นพ.สุชัย ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปลดล็อกสเปก 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะฯ ที่มี นพ. สุรวิทย์ เตชธุวานันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ในขณะนั้นเป็นประธาน คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างรถพยาบาลฯ ที่มี นพ.มานิตย์ ธีระตันติกานนท์ รองปลัด สธ.ในขณะนั้นเป็นประธานและคณะกรรมการตรวจรับรถพยาบาลที่มีนพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงในขณะนั้นเป็นประธาน