ครม.ตีกลับข้อเสนอ ก.พ.ร.แยก รพ.ศูนย์/ทั่วไป อยู่กับ ศธ.สั่งทุกกระทรวงพิจารณาตัวเองปรับลดองค์กร “มาร์ค” เล็งยุบ ก.พ.ร.งานทับซ้อน ก.พ.ขณะที่ “วิทยา” ปิ๊งไอเดียยุบตำแหน่งระดับผู้บริหาร เพิ่มตำแหน่งปฏิบัติการ ผลักดัน สบช.ขึ้นเป็นกรม รับผิดชอบผลิตบุคลากรทางการแพทย์ แก้ปัญหาบุคลากรทุกระดับขาดแคลน
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ไม่รับข้อศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุข ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ให้มีการปรับโครงสร้างกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะส่วนที่เสนอให้โอนย้ายโรงพยาบาลศูนย์ไปสังกัดมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ โรงพยาบาลทั่วไปให้เป็นองค์การมหาชน และให้กรมและกองบางส่วนมีเอกชนเป็นผู้ดูแล โดย ครม.ให้แต่ละกระทรวงกลับไปพิจารณาภายในหน่วยงานของตนเอง เพื่อปรับปรุงหน่วยงานให้ลดภาระค่าใช้จ่ายของหน่วยงานลง
“นายกรัฐมนตรียังมีความเห็นควรยุบ ก.พ.ร.เนื่องจากการตั้ง ก.พ.ร.เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจ ที่ดูแลด้านการปฏิรูประบบราชการ และอาจมีการทับซ้อนหรือเบียดบังในการทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)”นายวิทยากล่าว
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ผลการศึกษาที่ ก.พ.ร.นำเสนอให้เหตุผลของการที่ควรโอนย้ายโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจากการขาดแคลนแพทย์ โดยระบุว่า ประชาชนกว่า 40 ล้านคน อยู่ในอำเภอต่างๆ ทั่วประเทศ และมีโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ให้บริการด้านสาธารณสุข มีอัตราประชาชน 9 พันคนต่อแพทย์ 1 คน ในขณะที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปให้บริการประชาชนในเขตเมือง และเทศบาลจำนวนไม่มาก แต่กลับมีแพทย์ประจำอยู่เป็นจำนวนมาก
“ผมได้รายงานในที่ประชุม ครม.ไปว่าการให้ข้อมูลดังกล่าว เป็นการดูที่ผิดและไม่ครบกระบวนการ ซึ่งในความเป็นจริงโรงพยาบาลศูนย์และทั่วไป รับผิดชอบดูแลประชาชนทั้งจังหวัดและภาค เพราะ รพช.ส่งต่อผู้ป่วยเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลเหล่านี้ จนทำให้ผู้ป่วยล้นและปัญหาก็เกิดจากความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยที่มีการฟ้องร้อง ทำให้ รพช.ส่งต่อผู้ป่วยส่วนใหญ่ไปยังโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป เพราะกลัวถูกฟ้องร้อง”นายวิทยา กล่าว
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาการปรับโครงสร้างของกระทรวงให้มีความเหมาะสม เกิดความสมดุลระหว่างกำลังคนและลักษณะงาน โดยเบื้องต้นมีหลักในการพิจารณา 2 เรื่อง คือ 1.ในส่วนของเจ้าหน้าที่ภาคปฏิบัติ คือ บุคลาการทางการแพทย์ทุกวิชาชีพด้านสาธารณสุข ให้ปรับเพิ่มตำแหน่งให้พียงพอกับจำนวนประชากร และ 2.ตำแหน่งบริหาร ให้ยุบตำแหน่งที่ไม่จำเป็น หรือซ้ำซ้อนกันออก เพื่อนำตำแหน่งไปเพิ่มให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติแทน ซึ่งที่ผ่านมาทุกกระทรวงชอบยุบตำแหน่งระดับปฏิบัติทิ้งไป เพื่อเอาไปเพิ่มให้ในส่วนของตำแหน่งบริหาร เป็นวิธีคิดที่ผิด
“ผมเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขควรจะเพิ่มกรมขึ้นอีก 1 กรม โดยผลักดันให้สถาบันพระบรมราชชนก ขึ้นเป็นกรม เพื่อรับผิดชอบเรื่องการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เป็นต้น ให้สามารถบริหารจัดการเบ็ดเสร็จได้ภายในหน่วยงานเดียว เพราะปัจจุบันสถาบันพระบรมราชชนกดูแลเรื่องการผลิตพยาบาลอยู่แล้ว แต่นักศึกษายังต้องไปรับปริญญาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งขณะนี้ก็มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนกเพื่อยกเป็นกรมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริหารกระทรวง จะต้องศึกษาข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบให้รอบด้านก่อน” นายวิทยา กล่าว