xs
xsm
sm
md
lg

ชง ครม.รื้อโครงสร้าง สธ.-"วิทยา"สะดุ้ง!ขอศึกษาก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิทยา แก้วภราดัย
สธ.ท้วง ก.พ.ร.ย่องเสนอ ครม.ย้าย รพ.ศูนย์ไปสังกัดมหาวิทยาลัย รพ.ทั่วไปเป็นองค์การมหาชน อ้างบริหารคล่องตัว ประหยัดงบ ผู้บริหารสธ.สะดุ้งเพิ่งทราบเรื่อง ยันไม่เคยหารือ ขอดึงกลับมาศึกษาร่วมกันก่อน

วันที่ 23 พฤศจิกายน นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมหารือร่วมกับนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. นพ.เสรี หงส์หยก นพ.สถาพร วงษ์เจริญ นพ.ทนงสรรค์ สุธาธรรม รองปลัด สธ.และผู้บริหารระดับสูง ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) เรื่องการปรับโครงสร้างหน่วยงานราชการ เนื่องจากผลการศึกษาดังกล่าวมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข โดยมีข้อเสนอว่าควรโอนย้ายโรงพยาบาลศูนย์ไปอยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทั่วไปปรับเป็นองค์การมหาชน สถานีอนามัย (สอ.) โอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกอง/กรมบางส่วนให้ภาคเอกชนเข้าดำเนินการแทน ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทราบว่า ก.พ.ร.เตรียมที่จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 24 ก.ย.นี้

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ก.พ.ร.ให้เหตุผลในการปรับย้ายโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป และหน่วยงานราชการอื่นๆ เพื่อให้เกิดความกะทัดรัดในการดำเนินงาน การบริหารมีความคล่องตัว ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน และเป็นไปตามหลักของการกระจายอำนาจ ซึ่งในส่วนของ สธ. ตนได้เชิญผู้บริหาร สธ.มาขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อนำไปประกอบความคิดเห็นในการประชุม ครม.

“เบื้องต้นทราบว่า ข้อเสนอนี้ ก.พ.ร.ไม่เคยหารือกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน แต่เป็นการใช้หน่วยงานภายนอกในการศึกษา ผู้บริหารของ สธ.จึงให้ความเห็นว่าอยากให้มีการศึกษาเรื่องนี้ร่วมกันก่อนที่จะมีการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม.หรือดำเนินการใดๆ โดยในการประชุม ครม.วันที่ 24 พ.ย.หากมีการนำเรื่องนี้เข้าหารือ ผมจะนำเสนอข้อคิดเห็นของผู้บริหาร สธ.เพื่อประกอบข้อคิดเห็นของ ก.พ.ร.โดยจะอธิบายถึงเหตุผลว่าควรหรือไม่ควรอย่างไรที่จะย้าย รพ.ศูนย์ และ รพ.ทั่วไปออกไปจาก สธ.ถือว่าทุกอย่างมี 2 ด้าน และท้ายที่สุดคงต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ”นายวิทยา กล่าว

นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ จะศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาว่าข้อเสนอการปรับโครงสร้างของ ก.พ.ร.เป็นอุปสรรคต่อแนวนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ โดยเฉพาะนโยบายการยกสถานะสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ต้องมีการเชื่อมโยงระบบการส่งต่อผู้ป่วย และการตรวจผู้ป่วยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมา สธ.ได้มีการทดลองโอนย้าย สอ.ไปสังกัด อปท.จำนวนประมาณ 20 แห่ง พบว่า มีบางส่วนที่ล้มเหลว เพราะบุคลากรไม่เต็มใจที่จะย้ายไปสังกัด อปท. ประสิทธิภาพการให้บริการไม่ดีและงบประมาณอุดหนุนไม่เพียงพอ

ด้านนพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ทราบว่า ก.พ.ร.ได้มีการศึกษาเรื่องปรับโครงการของ สธ.แต่ไม่เคยมีใครได้เห็นต้นฉบับผลการศึกษาเลย รวมถึงไม่ได้ถูกเชิญให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาแต่อย่างใด โดยทั่วไปการศึกษาเรื่องใดก็ตามที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือภาระงานของหน่วยงานใดๆ ผู้ศึกษาจะต้องมีความรู้ เข้าใจถึงสถานการณ์ของหน่วยงานนั้นๆ อย่างถ่องแท้ จึงจะสามารถเสนอแนะหาทางออก หรือการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม แต่เนื่องจากไม่ทราบว่าวิธีการศึกษาเป็นอย่างไร ผลการศึกษาเป็นอย่างไร จึงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าดีหรือไม่ดี

“เชื่อว่า หาก ครม.อนุมัติข้อเสนอของ ก.พ.ร.ทันที ก็จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายใน1-2 ปีอย่างแน่นอน อย่างน้อยต้องมีเวลาให้สธ. ได้เตรียมความพร้อมอย่างน้อย 3-5 ปี ก่อนการเปลี่ยนแปลง เหมือนกับ พ.ร.บ.กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่จนถึงขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ยังไม่สามารถโอนถ่ายส่วนราชการให้กับ อปท.ได้ครบ 100%” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการกระจายงานให้หน่วยงานต่างๆ บริหารจัดการเองอย่างเป็นอิสระนั้น ถือเป็นหลักการจัดรูปองค์กรรูปแบบใหม่ที่นานาประเทศให้การยอมรับถือ หรือเรียกได้ว่าเป็นหลักสากล ซึ่งจะช่วยให้การบริการงานได้คล่องตัวมากกว่าการรวมศูนย์ไว้เพียงหน่วยงานเดียว เพราะไม่มีหน่วยงานใดมีความเชี่ยวชาญในทุกๆ ด้าน ในทางตรงข้าม การรวมศูนย์งานทุกด้านไว้ที่หน่วยงานเดียว จะไม่ก่อให้เกิดระบบถ่วงดุลอำนาจ และตรวจสอบได้

“โดยเฉพาะงานสาธารณสุข ที่มีพันธกิจหลากหลาย ทั้งการรักษาพยาบาล การให้บริการ การผลิตแพทย์ เป็นต้น สมควรที่จะมีการแบ่งแยกภาระงานกระจายให้หน่วยงานอื่นๆ ได้ดูแล เช่นเดียวกับกรณีการก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่ดูแลเรื่องการบริการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทย ขณะเดียวกัน ก็จะต้องมีกลไกหรือมีหน่วยงานกลางที่จะกำหนดทิศทางการบริการงานสาธารณสุข เพื่อบูรณาการงรานให้เดินไปในทิศทางเดียวกันด้วย ” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

อนึ่ง ปัจจุบันโรงพยาบาลศูนย์สังกัด สธ.จำนวน 26 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป 68 แห่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น