สธ.จับมือ สปสช.เดินหน้านโยบายโรคไตครบวงจร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา ในปี 2554 ทั้งการตรวจคัดกรอง การรักษา รวมถึงรณรงค์ให้มีการบริจาคไต พร้อมเตรียมขยายหน่วยบริการฟอกไตกระจายในพื้นที่ทุรกันดาร เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตในถิ่นทุรกันดารที่ต้องฟอกเลือดเข้าถึงบริการมากขึ้น จากเดิมที่อยู่ห่างไกล มีภาระค่าเดินทางมาก ทำให้การฟอกไตไม่ต่อเนื่อง เพื่อผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้มีการพิจารณาเรื่อง บริการบำบัดทดแทนไตในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นายวิทยา กล่าวว่า เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 7 รอบ 84 พรรษา ในปี 2554 ที่จะถึงนี้ กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.ได้กำหนดแนวนโยบายที่จะดำเนินการเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ คือ การดำเนินนโยบายโรคไตครบวงจร ทั้งการตรวจคัดกรองในกลุ่มที่มีความเสี่ยง การขยายระบบบริการทดแทนไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต โดยมีนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งให้ความร่วมมือ รวมถึงให้โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วประเทศเชิญชวนให้ประชาชนบริจาคไต และจัดอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทราบกระบวนการทั้งระบบของการได้มาซึ่งอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งการปลูกถ่ายไตเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย แต่ติดปัญหาที่มีผู้บริจาคไตจำนวนน้อย
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เพื่อให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องรักษาด้วยวิธีการฟอกไต สามารถเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานและค่าใช้จ่ายอยู่ในราคาที่เหมาะสม อันเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับ สปสช.ขยายหน่วยให้บริการการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเพิ่มขึ้นโดยมีรูปแบบหน่วยลูก (Satellite Unit) ในหน่วยบริการหลักของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในพื้นที่บริการที่มีปัญหาขาดแคลนการบริการฟอกเลือด ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการทดแทนไตผ่านช่องท้อง (CAPD) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการง่ายขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ได้รับการทดแทนไตต่อเนื่อง ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยเอง