สปสช.ตั้งเป้าใน 3-5 ปี มีผู้บริจาตไตปีละ 1,000 ราย ปรับค่านิยมและทัศนคติว่าการบริจาคอวัยวะไม่ดี ทั้งที่เป็นการต่อชีวิตให้เพื่อนมนุษย์
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย คือ การปลูกถ่ายไต ขณะที่การฟอกไตและการล้างไตทางช่องท้องนั้นเป็นวิธีการชะลอความเสื่อมของไตเท่านั้น แต่สภาพการณ์ของประเทศไทยนั้น มีอัตราการบริจาคไตในระดับน้อยมาก ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้รอรับการบริจาคไตยังมีจำนวนมาก
ทั้งนี้ จากข้อมูลของมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยที่มาขึ้นทะเบียนรอรับการปลูกถ่ายไตปีละประมาณ 1,600 ราย แต่ได้รับการปลูกถ่ายไตจริงเพียง 200-300 ราย เท่านั้น ซึ่งความไม่สมดุลตรงนี้ ทำให้หน่วยบริการต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดระบบการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดและล้างไตทางช่องท้องไปก่อน เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้มากที่สุด ก่อนที่จะสามารถปลูกถ่ายไตได้
รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์สำคัญของสปสช.เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย คือ การให้บริการฟอกเลือดและการล้างไตทางช่องท้องเพื่อรอการปลูกถ่ายไต ดังนั้นในระยะยาว 3-5 ปี จะมีการขยายเป้าหมายให้มีการบริจาคไตปีละ 1,000 ราย โดยเน้นการบริจาคไตระหว่างญาติสืบสายโลหิตเดียวกันหรือแม้กระทั่งสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสเนื่องจากมีกฎหมายรองรับ ควบคู่กับการบริจาคไตจากผู้ที่เสียชีวิตแล้ว โดยจะมีการดำเนินการร่วมกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทยสภากาชาดไทย และกระทรวงสาธารณสุขในการเร่งพัฒนาระบบหาและบริหารการบริจาคอวัยวะภายใน 3-5 ปีรวมถึงการสร้างแรงจูงใจในการบริจาคอวัยวะและสนับสนุนให้มีชมรมผู้บริจาคไต และการดูแลสุขภาพผู้บริจาคไต
นพ.ประทีป กล่าวว่า ปัจจุบันมีรพ.ที่เข้าร่วมทำการปลูกถ่ายไตและจ่ายยากดภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว 17 แห่ง โดยที่ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตในกรณีที่หาไตได้นั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เป็นไปตามสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพ และ สปสช.จ่ายชดเชยให้กับ รพ.ซึ่งยังมีผู้ป่วยที่รอการบริจาคไตอยู่จำนวนมาก