นักวิชาการจี้ “มาร์ค” ล้ม MOU ปี 43 ล้างไพ่ข้อผูกพันไทย-เขมร ชี้เลิก MOU ปี 44 สมัย “นช.แม้ว” ไม่มีผลเพราะเป็นหางของ ปี 43 ระบุหากรัฐยังเมิน เสี่ยงทำไทยเสียพื้นที่มากกว่า 4.6 ตร.กม. แนะประกาศยกเลิกได้เลยไม่ต้องผ่านสภา
วานนี้ (16 พ.ย.) ที่สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร นำโดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ สถาบันไทยคดีศึกษา พร้อมด้วย ศ.สมปอง สุจริตกุล รักษาการคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ นายวีระ สมความคิด แกนนำกลุ่มคนไทยรักชาติ นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายเทพมนตรี ลิมปพยอม ฯลฯ ร่วมหารือกรณีที่รัฐบาลไทยจะยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (MOU) 2544 ซึ่งลงนามในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลไทยและกัมพูชาลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศลง จนเป็นเหตุให้มีการทบทวนว่าจะมีการยกเลิก MOU 2544 ระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ตนถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่นอกจาก MOU 44 ที่รัฐบาลจะยกเลิกแล้ว นักวิชาการพบว่ายังมี MOU 43 ที่สมควรยกเลิกอีกหนึ่งฉบับ โดยในบันทึกความเข้าใจได้อ้างอิงถึงแผนที่ 1:200,000 เท่ากับเป็นการยอมรับแผนที่ของฝรั่งเศสโดยปริยาย ซึ่งจะส่งผลต่อการปักปันเขตแดนพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารด้วย นับเป็นจุดผิดพลาดของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในขณะนั้นอย่างมาก ดังนั้น การยกเลิกเพียง MOU44 จะไม่มีผลต่อพื้นที่ทางบกของไทยแต่อย่างใด
พล.อ.ปฐมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลเสียหากไม่มีการยกเลิก MOU 43 คืออาจกระทบต่อการปักปันเขตแดนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ตามมา เช่น ประเทศมาเลเซีย พม่า และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งไม่เพียงแต่จะสูญเสียพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่เป็นกรณีพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชาเท่านั้น แต่จะขยายวงกว้างมากขึ้น คาดการณ์ว่าแค่เฉพาะพื้นที่ทางบกจะกินพื้นที่ถึงกว่า 2 หมื่นไร่ ซึ่งยังไม่รวมถึงพื้นที่ทางทะเลที่ไทยจะเสียให้กัมพูชา
ด้าน นายเทพมนตรีกล่าวว่า ก่อนจะมีการยกเลิกMOU43 นั้น รัฐบาลควรยกเลิกคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาด้วย เนื่องจากในแถลงการณ์ร่วมมีการอ้างถึงแผนที่ 1: 200,000 ด้วย อย่างไรก็ตามหากมีการยกเลิกข้อตกลงระหว่างประเทศทั้ง 2 ฉบับ จะส่งผลต่อการแต่งตั้งประธาน JBC ด้วย เท่ากับว่าหากไทยสามารถยกเลิก MOU43 ได้เมื่อไหร่ ทุกอย่างจะกลับไปเริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่ ข้อผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชาเรื่องปราสาทพระวิหารก็เท่ากับศูนย์
“MOU 44 เป็นผลที่ทักษิณเห็นจาก MOU 43 ว่าถ้าทำดักไว้ก่อนเมื่อคณะกรรมการJBCเรียบร้อยถึงจะมาแบ่งผลประโยชน์ทางทะเล จึงเร่งให้มีการตั้งคณะกรรมการ JBC ให้เสร็จในรัฐบาลสมชาย เพื่อให้การปักปันเขตแดนสมบูรณ์ แต่ก็มีอันต้องล่มเสียก่อน ตอนนี้ยกเลิก MOU44 แล้วก็ต้องยกเลิก MOU 43 ด้วยเพื่อล้างไพ่ใหม่ แต่ฮุนเซนดักรอล่วงหน้า คือให้ วธ.เขมรกับสำนักฝรั่งเศสปรายบูรพาทิศ จัดทำแผนที่สองฉบับว่าด้วยปราสาทพระวิหาร และปราสาทตาเมือนธม โดยสัดส่วน 1:200,000 และเผยแพร่ทั่วยุโรปและปั๊มตรายูเนสโกตั้งแต่ปี 2007 ผ่านมา 2 ปีแล้ว ไทยก็ทำอะไรไม่ได้ วันนี้ทำได้อย่างเดียวคือยกเลิกบันทึกความเข้าใจปี 43” นายเทพมนตรีกล่าว
ศ.ดร.สมปอง กล่าวว่า ตามหลักเบื้องต้นกฎหมายระหว่างประเทศนั้น การที่รัฐบาลไทยทำสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศกับต่างประเทศ เรื่องจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่สำหรับการยกเลิกนั้นสามารถบอกเลิกโดยการประกาศได้เลยไม่ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบ ตนจึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ ทั้งที่กัมพูชามีปฏิกิริยาต่อรัฐบาลไทยอย่างรุนแรง ทำให้รู้สึกว่าเพราะเหตุนี้กระมังที่ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนโดยใช่เหตุ
ขณะที่ นายวีระกล่าวว่า ปัญหานี้ไม่ได้มีความสลับซับซ้อน แต่ขึ้นอยู่ที่รัฐบาลว่าจะยกเลิกหรือไม่ รัฐบาลสามารถยกเลิกได้ในทันที ประเด็นสำคัญคือการทำ MOU 43 ซึ่งถือเป็นสนธิสัญญา แต่ไม่ผ่านรัฐสภาในขณะนั้นก็เท่ากับข้อตกลงนั้นไม่มีผลทางกฎหมายหรือเป็นโมฆะ เช่นเดียวกันกับครั้งที่ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ สมัยรัฐบาลสมัคร ออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ตนจึงเห็นว่าหากประกาศยกเลิกในทันทีก็ไม่ส่งผลเสียต่อรัฐบาล และการแก้ปัญหาอื่นๆ เช่น การปักปันเขตแดน หรือการผลักดันทหารออกจากพื้นที่ย่อมทำได้หลังจากนี้
ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร ได้ออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับกัมพูชา เพื่อรักษาอธิปไตย บูรณภาพเหนือดินแดน และผลประโยชน์ของชาติ ดังนี้
1.ยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (MOU) 2543 ระหว่างไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ซึ่งอ้างอิงแผนที่ 1:200,000 โดยสำคัญว่าเป็นแผนที่ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ปรากฎตามบันทึกของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ลงนามโดย นายวรากรณ์ สามโกเศศ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอนุมัติโดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
2.กรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 เนื่องจากในเอกสารประกอบการชี้แจงวาระดังกล่าวปรากฏว่ามีแผนที่ 1 : 200,000 เป็นตัวอย่างแผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปกปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน
3.ร่างข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ตามหนังสือนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0503/11564 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 กราบเรียนประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ
4.คำแถลงการณ์ร่วมในโอกาสการเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544 เนื่องจากเป็นการยืนยันการอนุมัติ MOU 2544 ระหว่างไทยกับกัมพูชา ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544