xs
xsm
sm
md
lg

สธ.จับมือภาคีเหล้าหารือโฆษณาน้ำเมาโชว์ได้แค่โลโก้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.จับมือภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า หารือนักกฎหมายและนักโฆษณา จัดทำคู่มือการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เชิงสร้างสรรค์สังคม โชว์ได้เฉพาะโลโก้สินค้าและชื่อบริษัทเท่านั้น ใช้เป็นแนวทางให้ผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปฏิบัติง่ายต่อความเข้าใจ เชื่อป้องกันการโฆษณาผิดกฎหมายควบคุมเหล้า พ.ศ.2551

วานนี้ (6 พ.ย.)ที่ อาคารจัตุรัสจามจุรี กทม. นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และตัวแทนเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ประชุมผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายและนิเทศศาสตร์ พิจารณาจัดทำคู่มือการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในมาตรา 32 ว่าด้วยการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ง่ายต่อการเข้าใจและการปฏิบัติ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทราบ เพื่อป้องกันการโฆษณาผิดกฎหมาย

นายมานิตกล่าวต่อว่า ตามมาตรา 32 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งใช้มาได้ประมาณ 1 ปี 9 เดือน กำหนดห้ามมิให้มีการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใด ๆ มีการโฆษณาได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่ปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“ที่ผ่านมาพบว่ายังมีการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว ข้อมูลจากศูนย์รับแจ้งเรื่องร้องเรียนผู้กระทำผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 13 แห่งทั่วประเทศ พบประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาผิดกฎหมาย มากเป็นอันดับ 1 รวมทั้ง ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เรื่องการรับรู้การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อโทรทัศน์ หลังจากที่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ พบว่า มีการพบเห็นโฆษณา ทางสื่อโทรทัศน์ร้อยละ 56 ป้ายกลางแจ้งร้อยละ 16 และสื่อสิ่งพิมพ์ร้อยละ 14 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังไม่เข้าใจในกฎหมายมาตรานี้อย่างชัดเจน” นายมานิตกล่าว

นายมานิตกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ การตัดสินว่า โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบใดทำได้ แบบใดผิดกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน อาจจะเข้าใจยากในทางปฏิบัติ ไม่มีแนวทางตัวอย่างที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะได้ข้อสรุปจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งทางด้านกฎหมายและด้านการโฆษณา เพื่อจัดทำคู่มือที่เข้าใจง่าย มีกรณีตัวอย่าง สำหรับประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้ประกอบการ สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไข เพราะความผิดฐานโฆษณามีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่สำคัญ มีการปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท จนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง โดยภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะเชิญบริษัทผู้ผลิต นำเข้า และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดมารับฟังแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องอีกครั้ง

ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายฯ ได้ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับการโฆษณา เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญคือ ผู้ผลิต และนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถทำการโฆษณาเชิงสร้างสรรค์สังคมได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้ คือ 1.ต้องไม่แสดงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งที่อยู่ในพาชนะอื่น เช่น แก้ว ขวด หยด รวมถึงฟอง ต่างๆ 2.ต้องไม่แสดงบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท เช่น ขวด ฝา ฉลาก กระป๋อง กล่อง เป็นต้น 3.สามารถแสดงให้เห็นได้เฉพาะตราสัญลักษณ์ของชื่อบริษัทผู้ผลิต นำเข้า และ4.สามารถแสดงให้เห็นได้เฉพาะตราสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เท่านั้น

“การออกกฎกระทรวงครั้งนี้ ถือเป็นการผ่อนปรนให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถโฆษณาเชิงสร้างสรรค์สังคมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ สธ. กำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่งการแสดงโลโก้ของบริษัท และตัวสินค้า จะต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนอีกครั้งว่าโลโก้ใดเข้าข่ายตามหลักเกรฑ์ที่กำหนด เรพาะปัจจุบันนี้บริษัทผู้ผลิตและนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีลูกเล่นออกแบบโลโก้ออกมาหลายชิ้นที่คนเห็นแล้วจะรู้ทันทีว่าเป็นเหล้า เบีนร์ของยี่ห้อใด แม้จะไม่มีชื่อ หรือตัวผลิตภัณฑ์ให้เห็นก็ตาม” นพ.สมาน กล่าว

นพ.สมาน กล่าวด้วยว่า สำหรับขั้นตอนการออกกฎกระทรวงดังกล่าว ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาความถูกต้องด้านกฎหมายของร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้ว และมีการปรับแก้ไขถ้อยคำเล็กน้อย แต่ยังคงสาระสำคัญของหลักการไว้ตามเดิม ซึ่ง สธ.ได้เร่งแก้ไขเพื่อส่งร่างกฎกระทรวงฉบับแก้ไขแล้วให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจะส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีลงนาม คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปลายปีนี้อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น