“นายกฯ” ถกเครียด! เคาะมติแก้ปัญหามาบตาพุด ยอมแก้ กม.สิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับ รธน.ม.67 เร่งดันเข้า ครม.อังคารหน้า ก่อนโยนเข้าสภาให้ทันเดือนนี้ โดยระหว่างนี้ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมออกประกาศใช้ไปพลางก่อน ระบุ หากศาลปกครองสั่งระงับ 76 โครงการ ตามศาลปกครองกลาง เตรียมแก้เกมเสนอกฎหมายใหม่เข้าไป
วันนี้ (8 ต.ค.) เวลา 16.00 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุด ณ ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 ถนนอู่ทองใน โดยภายหลังการประชุม นายกฯ กล่าวถึงผลการประชุม ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ว่า มติกรรมการสรุปว่า หลักที่จะดำเนินการ คือ ตัวการที่จะออกกฎหมายเพื่อระยะยาว เป็นการใช้วิธีการแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยจะนำเสนอ ครม.ในวันอังคารหน้า เพื่อที่จะเร่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา ขณะเดียวกัน ก็จะเอาหลักการของตัวการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายไปใช้ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่ออก ก็ไปทำเป็นหลักเกณฑ์ที่ออกโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติไปพลางก่อนสำหรับโครงการที่เข้าข่ายมาตรา 67 วรรคสอง
“การแก้กฎหมายก็จะมี 1.มีการกำหนดกระบวนการถึงองค์กรที่จะไปชี้ว่า โครงการใดเข้าข่ายที่จะมีผลกระทบรุนแรง 2.กำหนดให้การจัดทำ อีไอเอ จะต้องมีการจัดทำผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน 3.ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และรับฟังความเห็นขององค์การอิสระก่อนที่จะมีการดำเนินการโครงการ โดยกฎหมายจะเสร็จช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับ สภาจะส่งเข้าสภาให้ทันภายในเดือนตุลาคมนี้” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวอีกว่า ระหว่างที่ยังไม่มีการแก้กฎหมายก็จะไปออกประกาศตามมาตรา 46 วรรคสองของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งตนคิดว่าสามารถทดแทนกันได้ เพราะว่าจริงๆ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ก็ไม่ได้บังคับให้เป็นกฎหมาย เพียงแต่คิดว่าสำหรับระยะยาวควรที่จะมีกฎหมาย อย่างไรก็ตาม สำหรับประกาศต้องมีการยกร่าง เพราะร่างสำหรับหลักเกณฑ์ที่จะทำตามมาตรา 46 วรรคสองยังไม่ได้ทำ แล้วจากนั้นก็ต้องเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมซึ่งจะเป็นผู้มีอำนาจในการออก ซึ่งในขั้นตอนของการยกร่างและนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเขาขอเวลาเอาไว้ 3 สัปดาห์
“ยังไม่มีการดูเรื่องกองทุนแสนล้าน เพราะว่า ตอนนี้เราถือว่าเราจะรอคำสั่งศาลในการอุทธรณ์เท่านั้น เพราะกฎหมายก็ไม่ได้เปิดโอกาสในการขอทุเลาการบังคับคดี” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องของการลงทุน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของโครงการที่ถูกร้องก็ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาล ส่วนอื่นๆ ก็ไปทำความเข้าใจกับภาคเอกชน อย่างไรก็ตามขณะนี้นักลงทุนหลายส่วนที่ทำความเข้าใจชี้แจงโดยละเอียดก็มีความเข้าใจดีขึ้น แต่เข้าใจกับพอใจก็ไม่เหมือนกัน แต่ว่ามีความเข้าใจดีขึ้น และบางส่วนก็อาจจะยังอาจจะสับสนในแง่ของขั้นตอน ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการอธิบาย แต่ก็จะพยายามทำความเข้าใจให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่า จะไม่ส่งกระทบกับทั้ง 76 โครงการ ที่จะหยุดโครงการหรือย้ายฐานหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้เรายังคงประเมินยาก คงต้องรอการวินิจฉัยคำอุทธรณ์ก่อน ซึ่งตนเข้าใจว่าคงจะพิจารณาค่อนข้างเร็ว ส่วนแนวทางที่วางไว้หากศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย ยืนตามศาลปกครองกลาง นายกฯ กล่าวว่า เราก็เดินหน้ากระบวนการที่จะรองรับโดยตัวมาตรา 46 วรรคสอง และการเสนอกฎหมายใหม่เข้าไป
“ผมขอยกตัวอย่างผลกระทบตอนนี้ ว่า อย่างตอนนี้ นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย เดินทางไปยุโรปก็ถูกสอบถามเรื่องนี้ ก็ได้ชี้แจงให้เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ไม่ใช่นโยบายของฝ่ายบริหารที่จะเป็นปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็เข้าใจได้เพราะว่าประเทศเหล่านี้ฝ่ายตุลาการเขาเป็นอิสระอยู่แล้ว ข้อที่สอง ก็คือว่า สมมติว่า มันมีความจำเป็นที่จะต้องมาวินิจฉัยแนวทางกันใหม่ แนวทางใหม่ก็ไม่ได้แตกต่างจากแนวทางเดิมมากนัก เพราะฉะนั้นไม่ได้แปลว่ามันจะทำอะไรไม่ได้เลย เพียงแต่ว่ามันต้องใช้เวลามากขึ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวอีกว่า ตอนนี้เราทำเท่าที่เราจะทำได้ และด้วยเจตนาที่เราเชื่อว่าเราได้ทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่เราไปห้ามคนโต้แย้งไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตนขออธิบายว่า สำหรับโครงการที่อนุญาตไปแล้วทางกระทรวงทรัพยากรฯ ได้ยืนยันว่า ผ่าน อีไอเอ แล้ว ซึ่งประเมินแล้วว่าไม่มีผลกระทบที่รุนแรง และปัจจุบันกระบวนการของ อีไอเอ ก็มีเรื่องของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพอยู่ แต่จะขยายเพิ่มสำหรับในอนาคตในกรณีที่มีโครงการที่เข้าข่ายมาตรา 67 วรรคสอง
เมื่อถามว่า ขอให้นายกฯ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่มีความร้ายแรง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นี่คือปัญหาว่าใครจะเป็นคนประกาศ ซึ่งขณะนี้ก็จะให้เป็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเป็นคนประกาศ ซึ่งตามกฎหมายที่เขียนในขณะนี้เราบอกกรรมการที่ประกาศว่า ถ้าคนโต้แย้งว่า โครงการไหนไม่อยู่ในประกาศ แต่มีผลกระทบรุนแรง เขาก็สามารถโต้แย้งได้